นางจูฮี แม็คคลีแลนด์ Managing Partner ของ IBM Consulting ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค กล่าวในงาน AI Revolution 2025 ว่า องค์กร 98% ได้เริ่มนำร่องใช้ เอไอ โดยโลกธุรกิจจะนำ เอไอ ผนวกเข้ากับทุกกระบวนการทำงาน เป็นการปรับเปลี่ยนในระดับพื้นฐานที่จะเกิดขึ้นกับทุกโดยทุก วันนี้กลายเป็นโมเดลไฮบริดที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างคนและ เอไอ และในอนาคตจะก้าวสู่โมเดลแบบ service as a software ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีใครนึกถึงมาก่อนหากย้อนกลับไป 2-3 ปีที่ผ่านมา
“วันนี้ เอไอ ไม่ใช่แค่เครื่องมืออีกต่อไป แต่คือตัวขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงสร้างผลิตภาพและนวัตกรรม ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญด้าน เอไอ 5 ประการ ที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นหากองค์กรต้องการก้าวสู่ยุคใหม่ของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย เอไอ อย่างเต็มตัว
การเปลี่ยนประการแรก จาก ที่รู้ทุกเรื่อง ตอบได้ทุกอย่าง (General-purpose AI) สู่ AI ที่เข้าใจบริบทเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม (Domain-specific AI) ข้อมูลมหาศาลที่จะให้มุมมองเชิงลึกกับธุรกิจได้อย่างแท้จริง ยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประมวลผลของ AI เลย ข้อมูลเฉพาะเจาะจงในแต่ละภาคอุตสาหกรรมนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการนำ AI มาใช้ในโลกธุรกิจจริง ตัวอย่างเช่น สำหรับอุตสาหกรรมการบิน AI ต้องเข้าใจรายละเอียดเฉพาะด้านอย่างการตรวจสอบการกัดกร่อนของเครื่องบิน
การเปลี่ยนแปลงที่ 2 คือ การก้าวสู่ยุค Agentic AI เต็มตัว ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะเป็นการทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ของ AI ที่เกิดขึ้นหลังจากยุค Gen AI โดย Agentic AI เป็นระบบที่สามารถทำงานได้อัตโนมัติ สามารถวิเคราะห์ข้อมูล ตั้งเป้าหมาย ตัดสินใจ และดำเนินการ โดยมีการแทรกแซงจากมนุษย์เพียงเล็กน้อย โดยการ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2571 อย่างน้อย 15% ของการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในแต่ละวันจะเป็นไปโดยอัตโนมัติด้วย Agentic AI ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 0% ในปีที่ผ่านมา
การเปลี่ยนแปลงที่ 3 คือ การก้าวสู่แนวทาง Open และ Hybrid AI โดยในปี 2025 โฟกัสจะไม่ได้อยู่ที่โมเดล AI สู่ แต่องค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับระบบ AI โดยองค์กรจะเริ่มใช้งานโอเพ่นซอร์สมากขึ้นเรื่อยๆ และคุณค่าจะไม่ได้มาจากโมเดลเดี่ยวๆ แต่มาจากการบูรณาการที่รวมเครื่องมือโอเพ่นซอร์สต่างๆ เข้าด้วยกัน
การเปลี่ยนแปลงที่ 4 คือ ความจำเป็นเร่งด่วนในเรื่องธรรมาภิบาลและความโปร่งใสของ AI โดยการผ่านกฎหมาย EU AI Act ในปีที่ผ่านมา รวมถึงความเคลื่อนไหวด้านกฎข้อบังคับในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิค และความร่วมมือด้านการตรวจจับอคติ AI ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล้วนตอกย้ำความสำคัญของ AI เชิงจริยธรรม ที่ต้องเน้นความโปร่งใส ความเป็นธรรม และการใช้ AI ที่มีความรับผิดชอบ
การเปลี่ยนแปลงที่ 5 คือ การผสานระหว่าง AI กับควอนตัมคอมพิวติ้ง โดยการผสานระหว่าง AI กับควอนตัมคอมพิวติ้ง จะเกิดใน 2 แนวทาง คือ การนำควอนตัมคอมพิวติ้งช่วยเร่งความก้าวหน้าของ AI อย่างอัลกอริธึมแมชชีนเลิร์นนิงและ neural network รูปแบบใหม่ หรือการช่วยก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการใช้พลังงานสูง เวลาประมวลผลที่ยาวนาน และความต้องการพลังประมวลผลสูงของ AI โดยเมื่อควอนตัมคอมพิวติ้งพัฒนาไปสู่ระดับที่มีความเร็วและขนาดที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจช่วยให้ AI ประมวลผลข้อมูลได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไอบีเอ็มกำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้
ส่วนอีกแนวทางคือการนำ AI ช่วยเร่งการพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้ง เช่น เร่งกระบวนการการพัฒนาโค้ดสำหรับควอนตัมคอมพิวติ้ง โดยวันนี้แพลตฟอร์ม watsonx ของไอบีเอ็มก็กำลังช่วยนักพัฒนาเขียนโค้ดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการรันบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม
ในอีกมุม อาชญากรไซเบอร์ก็ได้เริ่ม “Harvest Now, Decrypt Later” แล้ว โดยเริ่มขโมยและเก็บข้อมูลที่จะมีความสำคัญในระยะยาวไว้ แม้จะยังถอดรหัสข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้ในวันนี้ แต่เมื่อถึงวันที่คอมพิวเตอร์มีความพร้อม องค์กรที่ไม่เตรียมพร้อมในเรื่องนี้อาจต้องรับความเสี่ยงจากการถูกโจมตี ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งในด้านธุรกิจและความปลอดภัย
“ในปีที่ผ่านมา สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติของสหรัฐฯ (NIST) ได้เผยแพร่มาตรฐานการเข้ารหัสที่ Quantum Safe รวม 3 รายการ โดย 2 ใน 3 พัฒนาโดยนักวิจัยจากไอบีเอ็มและพันธมิตร ขณะที่อีกอัลกอริธึมได้รับการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทีม IBM Research ซึ่งมาตรฐานนี้จะเป็นหนึ่งในมาตรฐานที่ใช้แพร่หลายทั่วโลกในอนาคต” นางจูฮี กล่าว