สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากเมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ว่า นางเคท ควิกลีย์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล กล่าวว่า คลื่นความร้อนในทะเลที่กินเวลานานหลายเดือน สร้างความเสียหายต่อแนวปะการังนิงกาลู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานทางทะเลที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
แม้เจ้าหน้าที่ด้านสิ่งแวดล้อมยังคงตรวจสอบระดับความเสียหาย แต่ข้อมูลที่รวบรวมโดยควิกลีย์และทีมนักวิทยาศาสตร์ พบว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้ จะกลายเป็นเหตุการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่ที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปีของแนวปะการัง


“มหาสมุทรที่อุ่นขึ้น ทำให้ปะการังประสบกับการฟอกขาวในปีนี้ และอาจถือว่าอยู่ในระดับที่ ‘ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน’ เนื่องจากการฟอกขาวไม่ได้เกิดขึ้นแค่ด้านบนของแนวปะการัง และปะการังหลายสายพันธุ์กำลังเผชิญกับปรากฏการณ์นี้” ควิกลีย์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายเดเร็ก แมนเซลโล จากสำนักงานสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (โนอา) กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2566 ถึงวันที่ 20 มี.ค. 2568 ความเครียดจากความร้อนในระดับการฟอกขาว ส่งผลกระทบต่อพื้นที่แนวปะการังของโลกถึง 83.6% ในประเทศหรือดินแดน 81 แห่ง ซึ่งการฟอกขาวในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย อยู่ในระดับที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง
'Unprecedented' mass bleaching drains life from Australian reef https://t.co/tfyfpxQPER
— eNCA (@eNCA) March 26, 2025
ทั้งนี้ ข้อมูลของรัฐบาลออสเตรเลีย แสดงให้เห็นถึงการพบปะการังฟอกขาวหย่อมเล็ก ๆ ที่ปลายด้านเหนือของแนวปะการัง “เกรตแบริเออร์รีฟ” บริเวณชายฝั่งตะวันออกของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ควิกลีย์กล่าวว่า ขอบเขตความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกรตแบริเออร์รีฟในปัจจุบัน ยังไม่ขยายวงกว้าง และไม่รุนแรงพอที่จะถือว่าเป็น “การฟอกขาวครั้งใหญ่”.
เครดิตภาพ : AFP