นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รับรายงานเบื้องต้นจากกรมทางหลวง(ทล.) ว่า จะเสนอโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 8 (มอเตอร์เวย์) ช่วงนครปฐม-ปากท่อ-ชะอำ ระยะ(เฟส)ที่ 1 ช่วงนครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61 กิโลเมตร(กม.) มายังกระทรวงคมนาคมภายในเดือน มี.ค.2568 เพื่อพิจารณาเสนอสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) บรรจุวาระในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการฯ หาก ครม. เห็นชอบ จะดำเนินการในขั้นตอนประกวดราคาทันที และการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ติดตั้งงานระบบ พร้อมบำรุงรักษา (O&M) 1 ปี 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนเฟสที่ 2 ช่วงปากท่อ-ชะอำ ระยะทางประมาณ 48 กม. ทาง ทล. เตรียมว่าจ้างศึกษาแนวเส้นทางใหม่ เพื่อลดผลกระทบการเวนคืนที่ดินของประชาชน เนื่องจากแนวเส้นทางเดิม มีปัญหาข้อร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่บริเวณ จ.เพชรบุรี อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเริ่มดำเนินการศึกษาภายในปี 2568 ใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี แล้วเสร็จปี 2569 จากนั้นจะเสนอ ครม. อนุมัติโครงการฯ ต่อไป โดยตนได้เร่งรัดให้ดำเนินโครงการฯ เพื่อเพิ่มทางเลือกการเดินทางลงพื้นที่ภาคใต้ และแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนถนนพระราม 2

รายงานข่าวจาก ทล. แจ้งว่า โครงการมอเตอร์เวย์ M8 ช่วงนครปฐม – ชะอำ มีระยะทางรวมประมาณ 109 กม. แบ่งเป็น 2 เฟส ประกอบด้วย เฟสที่ 1 ช่วงนครปฐม – ปากท่อ ระยะทาง 61 กม. เส้นทางผ่านพื้นที่จังหวัดนครปฐม จังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม จุดเริ่มต้นบริเวณทางแยกต่างระดับนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และทางหลวงพิเศษสายบางใหญ่ – กาญจนบุรี (M81) และสิ้นสุดที่อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และเฟสที่ 2 ช่วงปากท่อ – ชะอำ ระยะทาง 48 กม. เส้นทางผ่านพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี บริเวณต่างระดับวังมะนาว สิ้นสุดที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

สำหรับโครงการมอเตอร์เวย์ M8  เฟสที่ 1 ช่วงนครปฐม – ปากท่อ วงเงินลงทุน 61,154 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้างงานโยธา 40,162 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 14,400 ล้านบาท และค่าก่อสร้างงานระบบ 6,591 ล้านบาท โดยรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางหลวงแนวใหม่ มาตรฐานทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ขนาด 4 ช่องจราจร (ไป-กลับฝั่งละ 2 ช่องจราจร) มีเขตทางกว้าง 80 เมตร มีทางเข้า-ออก (Entrance – Exit) จำนวน 7 แห่ง เก็บค่าผ่านทางคิดตามระยะทาง มีที่พักริมทาง (Rest Area) สำหรับให้บริการประชาชนผู้ใช้งาน จำนวน 3 แห่ง

เบื้องต้นมีแผนจะจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในปี 2569 เริ่มก่อสร้างในปี 2570 และเปิดให้บริการภายในปี 2574 ทั้งนี้มอเตอร์เวย์ M8 เป็นหนึ่งในโครงการเร่งด่วนของแผนแม่บทพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระยะ 20 ปี (2560 – 2579) และเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษตามแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ – ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นเส้นทางเชื่อมต่อหลักระหว่างภาคกลางกับภาคใต้ของไทย เพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า และการเดินทาง ลดปัญหาการจราจรติดขัดบนทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่มีปริมาณจราจรหนาแน่น อีกทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของพื้นที่ภาคตะวันตก และภาคใต้ รวมถึงเพิ่มความปลอดภัย และลดอุบัติเหตุบนเส้นทางหลักด้วย.