เมื่อเวลา 21.18 น.วันที่ 25 มี.ค.ที่อาคารรัฐสภา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลุกขึ้นชี้แจง ว่า ตลอด 2 วันของการอภิปราย ตนได้ยินชื่อตัวเองมากที่สุดในชีวิต ทั้งนี้ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองเต็มความสามารถอะไรที่เป็นเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์จะเป็นประโยชน์กับประชาชน อะไรที่กระทบกระทั่งถือว่าปกติ และคิดว่าจะทำงานร่วมกันต่อไปได้ ส่วนกรณีที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ย้ำถึงภาวะผู้นำและกรณีถูกครอบงำหลายครั้ง คนที่ย้ำเรื่องเดิมๆ หลายครั้งไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งที่ตนเองขาดหรือไม่ ตนคิดว่าไม่ต้องคิดแบบนั้นก็ได้ เพราะไม่ใช่แค่ตนที่ถูกกล่าว แต่ผู้นำฝ่ายค้านถูกกล่าวหาเช่นกัน แต่ต่างกันเพราะตนถูกครอบงำโดยพ่อ แต่ผู้นำฝ่ายค้าน ถูกครอบงำโดยคนที่ไม่ใช่พ่อ
“ไม่อยากให้ใครพูดแบบนี้ ส่วนตัวเคารพและให้เกียติผู้นำฝ่ายค้าน และไม่เคยสงสัยในภาวะผู้นำ เพราะอายุใกล้กันควรเข้าใจ ในเรื่องของเส้นทางทางการเมือง คล้ายกันอยู่บ้างไม่ว่ามาถึงตรงนี้ เจอชะตากรรมของการถูกกระทำ หากพรรคของดิฉันไม่ถูกกระทำทางการเมือง อาจมีนายกฯ ชื่อนายทักษิณ ชินวัตร และท่านยังมีหัวหน้าพรรคชื่อ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อชะตากรรมทางการเมืองเป็นแบบนี้ ดิฉันและผู้นำฝ่ายค้านต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด และอย่าด้อยยค่าคนอื่น “นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า ดิฉันถูกปรามาสมาตั้งแต่เป็นนิสิตนักศึกษาและเมื่อเป็นนายกฯ มีคนกล่าวถึงอีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกและไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะรับฟัง นำข้อแนะนำของนายทักษิณ มาพิจารณา เพราะมีความรู้ความสามารถ ถูกยอมรับในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ ถ้าความคิดของท่านจะเป็นประโยชน์ให้ประเทศ และประชาชน ตนคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ทุกคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ยังทำงานการเมืองอยู่ ทั้งทำนโยบาย เดินหาเสียงพอประชาชน ก็ยังทำได้ ทำไมถึงเป็นเรื่องของนายทักษิณเพียงคนเดียวที่เป็นประเด็น หรือนายทักษิณอาจโดนตัดสิทธิ์ยกกำลังสอง
นายกฯ กล่าวอีกว่า เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราย้ำจุดยืนที่เคยแถลงนโยบายต่อรัฐสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยไม่แตะหมวด1หมวด2 แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ซับซ้อนจึงแก้ไขได้ยาก มีข้อเห็นต่างจากพรรคร่วมรัฐบาล และวุฒิสภา ทั้งเรื่องกฎหมายการทำประชามติ และจำนวนครั้งในการทำประชามติ แต่เราพยายามเดินหน้า ท่านเรียกร้องให้ตนแสดงภาวะผู้นำ จริงๆไม่ต้องเรียกร้อง ตนทำอยู่ตลอดเวลา มีการหารือแลกเปลี่ยนความเห็นในนโยบายกับพรรคร่วมรัฐบาล แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างให้ชัดเจน จนพรรคร่วมฯมีมติร่วมกันนำเรื่องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เราเป็นรัฐบาลที่มีพรรคร่วมหลายพรรค ภาวะผู้นำของตนต้องอดทน มีเหตุผล จริงใจ ถ้าดันทุรังแต่พังทุกรอบ จะไม่เกิดผลดีต่อรัฐบาล
”ถ้าคำว่าดีลหมายถึงการเจรจาหาข้อสรุปร่วมกัน การเมืองทุกที่ในโลกใบนี้ก็ต้องมีการดัลกันทั้งนั้น รัฐบาลของเราตั้งมา พรรคของเราก็มาดีลกับพรรคของท่าน พรรคของท่านก็มาดีลกับพรรคของเรา เรายกมือโหวตให้แคนดิเดตนายกฯของท่านด้วยความที่เชื่อว่าท่านรวมเสียงสว.สำเร็จแล้ว ท่านก็ยืนยันดีลกับเราแบบนั้น เราก็ดีลด้วย เรารักษาคำพูดเสมอ เราก็ทำตามดีลทุกอย่าง ในปี2562 พรรคเพื่อไทยได้คะแนนอันดับหนึ่ง ท่านก็มาดีลให้เรายกมือให้คนดิเดตของพรรคท่านซึ่งมาเป็นอันดับสาม การเลือกตั้งปี66ท่านเป็นพรรคอันดับหนึ่ง มาดีลกับเราเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เราก็ตอบตกลงและยกมือโหวตให้มาตลอด แต่เท่าที่จำได้ท่านยังไม่เคยยกมือให้แคนดิเดตของพรรคเราเลย เมื่อตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เราก็เดินหน้าตั้งรัฐบาลต่อไป เป็นเรื่องปกติของระบบรัฐสภา เกิดขึ้นทั้งพรรคเราและพรรคท่าน“ นายกฯ กล่าว.