เมื่อวันที่ 25 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
โดยในช่วงค่ำ นายชยพล สท้อนดี สส.กทม.พรรคประชาชน ลุกขึ้นแฉเรื่องปฏิบัติการไอโอของกองทัพ ที่เกิดขึ้นยุครัฐบาล คสช.เติบโต เลวร้ายยิ่งกว่าเดิมในยุครัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยช่วงก่อนการเลือกตั้ง2566 ไม่นาน มีการจัดโครงสร้างปฏิบัติการไอโอขึ้นมาใหม่ ให้มีเอกภาพ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไล่ไปจนถึงระดับปฏิบัติการ กระชับการบังคับบัญชาให้ทุกเหล่าทัพ รวมศูนย์ไปอยู่ภายใต้ ศปก.ร่วม โดยมีไซเบอร์ทีมที่ตั้งขึ้นมาใหม่ คอยรับผิดชอบปฏิบัติการไอโอโดยเฉพาะ ขบวนการไอโอนี้ กลับสุขสบายดี แถมเติบโตจนน่ากลัวภายใต้นายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า น.ส.แพทองธาร จากที่ตนติดตาม ไซเบอร์ทีมนี้ประชุมกันทุกวันพุทธหรือพฤหัสบดี สถานที่ประชุมอยู่ใกล้แถวนี้นี่แหละ ตรงแถว สะพานเกษะโกมล ห่างจากสภาฯของเราเพียงแค่ 2 กิโลเมตร นิดๆ

นายชยพล ได้ฉายพาวเวอร์พอยท์ แฉผังโครงสร้างทีมไซเบอร์ของกองทัพ จากเอกสารความมั่นคงพิเศษ ทบ. คนที่นั่งอยู่หัวโต๊ะ ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 2566 คอยบัญชาการไซเบอร์ทีมนี้ ก็คือ รองผอ.ศปก.ร่วม และเป็นอดีตผู้ช่วยผบ.ทบ. มีนามว่า พล.อ.ธรรมนูญ วิถี
จนกระทั่ง นายชลพล ได้ยกตัวอย่างปฏิบัติการไอโอของกองทัพ ช่วงวันที่ 19-25ต.ค.2567 ยุค รัฐบาลน.ส.แพทองธาร ที่มีการโพสต์ข้อความ สร้างภาพลักษณ์เชิงบวก ของกองทัพ กับสถาบัน แต่มีการแอบแฝงเพื่อสร้างภาพจำว่า กองทัพ ผูกติดอยู่กับสถาบันจนแยกไม่ออก จนถูกสส.รัฐบาล ประท้วงอย่างหนัก จนนายพิเชษฐ์ รองประธานสภาฯ ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ต้องกล่าวตักเตือนที่พูดถึงสถาบันมาบ่อยครั้งแล้ว และระบุ ถ้ายังพูดถึงสถาบันอีกจะไม่ให้อภิปรายแล้ว ทำให้เกิดการตอบโต้ไปมากับ สส.ปชน.ที่ยืนยันพูดปกป้องสถาบัน นายชลพล จึงถาม หากไม่ให้ใช้คำว่า “สถาบัน” จะให้ใช้คำว่าอะไร นายพิเชษฐ์ สวนกลับทันทีว่า “หากใช้คำอื่นไม่เป็น ก็ไม่ต้องใช้”

จากนั้น นายชยพล ได้เปลี่ยนหัวข้อไปพูดถึงปฏิบัติการไอโอของกองทัพที่มีเป้าหมายโจมตีนักการเมืองและคนที่อยู่ตรงข้ามกับกองทัพ อาทิ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ตกเป็นเป้าหมายปฏิการไอโอกองทัพ ทำให้นายพิเชษฐ์ ต้องเตือนนายชยพล อีกครั้งว่า พูดพาดพิงถึงบุคคลภายนอก ที่ไม่มีสิทธิเข้ามาชี้แจง ควรหยุดอภิปรายดีไหม แต่นายชยพล ยืนยันว่า ได้มีการขออนุญาตเอ่ยชื่อ บุคคลเหล่านี้แล้ว


อย่างไรก็ตาม นายชยพล ยังคงอภิปรายพูดถึงชื่อบุคคลภายนอก และลงลึกวิธีการทำงานของกองทัพอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สส.รัฐบาล ลุกขึ้นประท้วงบ่อยครั้ง


จนในที่สุดนายพิเชษฐ์ ได้วินิจฉัยให้นายชยพลหยุดพูด โดยให้เหตุผลว่าถ้า ให้อภิปรายต่อไป แล้วเกิดความเสียหาย สภาฯ ก็รับไม่ไหว และนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า “หากไม่มีใครฟังประธาน แบบนี้ให้ปิดการอภิปรายไปเลย” ทำให้ สส. พรรค ปชน.ลุกขึ้นประท้วงหลายคน โดย น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. ลุกขึ้นใช้น้ำเสียงออดอ้อน ขอร้องให้นายชยพล ให้อภิปรายต่อ ในที่สุดนายพิเชษฐ์ อนุญาตให้พูดต่ออีก 10 นาที โดยไม่ให้ฉายสไลด์.