เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 68 ที่ อาคารรัฐสภา ย่านเกียกกาย นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามมาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่ารัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกอย่างเร่งด่วน

นายพิชัย กล่าวว่า การส่งออกของไทยปี 67 โต 5.4% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ มูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท ขณะที่เดือน ก.พ. 68 ขยายตัวถึง 14% และช่วง 5 เดือนแรกของรัฐบาลปัจจุบัน การส่งออกขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ย 11.8% เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่ถูกทิศทาง นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังให้ความเชื่อมั่นในรัฐบาลไทย โดยในปี 67 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศถึง 1.13 ล้านล้านบาท และหลายโครงการคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในกลางปีนี้ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม PCB เซมิคอนดักเตอร์ AI Data Center และธุรกิจอนาคตที่จะเป็นโครงสร้างสำคัญของประเทศ

ทั้งนี้ รัฐบาลมีความคืบหน้าในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ โดยการเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ภายในวันที่ 25 ธ.ค. 68 นอกจากนี้ ไทยยังจะได้ลงนาม FTA กับภูฏาน ซึ่งเตรียมลงนามอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 เม.ย. 68 หลังความสำเร็จ FTA กับเอฟตา ซึ่งเป็นเอฟทีเอฉบับแรกของไทยกับประเทศในยุโรป หลังท่านนายกฯ มาดำรงตำแหน่งเพียง 3 เดือน และกำลังเร่งเจรจา FTA กับแคนาดา เกาหลีใต้ และยูเออี เพื่อขยายโอกาสทางการค้าของไทยให้มากขึ้น

สำหรับปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ นายพิชัยย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้เพิกเฉย และได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในหลายด้าน อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ แม้ราคาตลาดโลกจะลดลง 37% แต่ไทยสามารถรักษาราคาเฉลี่ยในปี 68 ไว้ที่ 9.90 บาท/กก. สูงกว่าปี 62-64 ที่ 8.57 บาท/กก. พร้อมควบคุมการนำเข้าให้มีใบรับรองว่าไม่มีการเผาก่อนเก็บเกี่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของฝุ่น PM2.5

มันสำปะหลัง ปัญหาหลักเกิดจากจีนชะลอการนำเข้าเนื่องจากราคาต้นทุนสูง อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสามารถผลักดันให้จีนกลับมาซื้อได้แล้วกว่า 8.71 ล้านตัน และยังส่งเสริมการใช้มันสำปะหลังในประเทศเพื่อเพิ่มความต้องการ, ข้าว ขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิเพิ่มขึ้น 1,300 บาทต่อตันจากปีก่อน แต่ข้าวนาปรังได้รับผลกระทบจากการกลับมาส่งออกของอินเดีย รัฐบาลจึงเร่งช่วยเหลือเกษตรกร โดยให้เงินสนับสนุน 1,000 บาท/ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 10 ไร่ และจะเปิดเสรีการส่งออกข้าว ทลายทุนผูกขาดข้าว ผ่านมาตรการลดสต๊อกในการส่งออกที่ดำเนินการแล้ว และลดค่าธรรมเนียมหนังสือนุญาตให้ผู้ประกอบการส่งออกข่าว ซึ่งกำลังรอเข้า ครม. ในเดือน เม.ย. นี้ สำหรับข้าวนาปี ยังมีแผนลดต้นทุนการผลิต ปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชในราคาพิเศษ

ส่วนผลไม้ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ออกมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 68 รวม 7 มาตรการ 25 แผนงาน ที่ครอบคลุมผลไม้หลักทุกชนิด เป้าหมาย 9.5 แสนตัน เพื่อให้ผลไม้ราคาดีทั้งปี

รัฐบาลมีมาตรการเข้มงวดในการปราบปรามสินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานและกวาดล้างธุรกิจนอมินี หลังดำเนินมาตรการอย่างเข้มข้น สินค้าด้อยคุณภาพจากต่างประเทศที่ทะลักเข้าแพลตฟอร์มออนไลน์ สามารถดำเนินคดีไปแล้วกว่า 24,626 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 1,257 ล้านบาท และสามารถเก็บ VAT ได้ 1,500 ล้านบาท และสามารถกวาดล้างธุรกิจนอมินีได้ถึง 851 ราย มูลค่าความเสียหาย 15,121 ล้านบาท

นายพิชัยยืนยันว่าภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวและเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง ทั้งจากการส่งออกที่ขยายตัว การลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่เป็นรูปธรรม พร้อมเชื่อมั่นว่าหากสามารถแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้ เศรษฐกิจไทยจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว