เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 25 มี.ค. 2568 ที่รัฐสภา น.ส.มัสทิณา สิงสมดี ผู้ใหญ่บ้าน ม. 5 ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ยื่นหนังสือถึง นายฉัตร สุภัทรวณิชย์ รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน คนที่สอง นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ รองประธานคณะ กมธ. คนที่สี่ และนายชวาล พลเมืองดี โฆษกคณะ กมธ.การอุตสาหกรรม เรื่องขอคัดค้านการก่อสร้างและดำเนินกิจการของโรงงานของ บริษัท ชินเซิ่ง เอ็นไวรอนเมนทอล โพเทคชั่น จำกัด และขอให้ตรวจสอบที่มาของการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ 

น.ส.มัสทิณา กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า สืบเนื่องจากมีประกาศจากสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี เรื่องการรับฟังความคิดเห็นและการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงานของนายชัชวาลย์ สงครามรอด ซึ่งต่อมาทราบว่าเปลี่ยนเจ้าของใบอนุญาตเป็นของบริษัท ชินเซิ่ง เอ็นไวรอนเมนทอล โพรเทคชั่น จำกัด นั้น ขอยืนยันว่าไม่เคยทราบเกี่ยวกับการประกาศรับฟังความคิดเห็นของสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ปราจีนบุรี ในการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานดังกล่าว ในการประกอบกิจการนำยางรถที่ใช้แล้วมาผลิตเป็นน้ำมันเตาและผงคาร์บอนโดยผ่านกระบวนการไพโรไลซิส ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.หนองกี่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี 

น.ส.มัสทิณา กล่าวอีกว่า เมื่อผู้ใหญ่บ้านทราบเรื่องจึงเร่งทำหนังสือคัดค้านการออกใบอนุญาตดังกล่าว แต่อุตสาหกรรมจ.ปราจีนบุรี มีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานข้างต้น ได้รับความเห็นชอบและอนุมัติเรียบร้อยแล้ว โดยระบุว่า ไม่มีผู้คัดค้านและแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด ผู้ใหญ่บ้านจึงจัดประชุมประชาคมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับดำเนินกิจการของโรงงาน โดยมีอุตสาหกรรมจังหวัด  อ.กบินทร์บุรี และเทศบาลตำบลหนองกี่ เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นและตอบข้อสงสัยของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ประชาชนผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดมีความคิดเห็นคัดค้านการก่อสร้างดำเนินกิจการของโรงงาน และขอให้ตรวจสอบความถูกต้องชอบธรรมของการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานของ บริษัท ใหม่โดยละเอียด 

นายฉัตร กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียนจากประชาชน โดยเฉพาะหัวข้อเกี่ยวกับเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การลงทุนทำธุรกิจที่ต้องก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรม หากธุรกิจเหล่านั้นเกิดผลกระทบโดยตรงต่อชุมชน ต้องมีกระบวนการรับฟังชุมชนมีการสื่อสาร มีการทำประชาคม แต่หลายครั้งที่มีความสุ่มเสี่ยง โดยพบว่าภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งส่วนของราชการท้องถิ่นที่จะทำการประสานงานต่าง ๆ กลับไม่ได้สื่อสารไปยังชุมชน หมู่บ้าน ที่อาศัยในบริเวณเพื่อรับทราบข้อเท็จจริง หลายครั้งนำมาสู่ความไม่พึงพอใจของผู้ที่พักอยู่อาศัยและก่อความเดือดร้อนทางสิ่งแวดล้อมทางมลภาวะให้กับชุมชน คณะ กมธ. จะใช้พื้นที่และกระบวนการของคณะกมธ. ในการรับฟังประสานงาน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมให้กับชาวปราจีนบุรีต่อไป

ด้านนายพงศธร กล่าวต่อว่า จะรีบดำเนินการบรรจุเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของคณะกมธ. โดยเร็ว เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง ความโปร่งใส รวมถึงจะได้ประสานงานกับคณะ กมธ.การอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด

ขณะที่นายชวาล กล่าวต่อว่า โรงงานอันตรายควรผลักดันให้เข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด ไม่ควรที่จะมาอยู่ในชุมชนหรือพื้นที่เกษตรกรรม เพราะมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยชุมชนและสิ่งแวดล้อม ในฐานะตัวแทนคณะกมธ. จะรับเรื่องดังกล่าวเพื่อนำเข้าไปพิจารณาในคณะกมธ. ถึงกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ รวมถึงความโปร่งใสในการรับฟังความคิดเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ที่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง และจะส่งเรื่องต่อไปยัง นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เพื่อให้พิจารณาถึงการออกใบอนุญาตให้กับโรงงานดังกล่าว

///