ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศรายงานปรากฏการณ์น่าสนใจบนท้องฟ้า โดยระบุว่า วงแหวนอันเป็นสัญลักษณ์ของดาวเสาร์ จะ “ดูเหมือนหายไป” เป็นการชั่วคราว โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. เป็นต้นไป และจะกินเวลาเพียงไม่กี่วัน
อย่างไรก็ตาม วงแหวนของดาวเสาร์ไม่ได้หายไปจริงๆ แต่เป็นเพราะโลกทำมุมกับดาวเสาร์จนเกิดภาพลวงตาคนที่อยู่บนโลก ทำให้มองไม่เห็นวงแหวนของดาวเสาร์

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ ก็เพราะมุมเอียงเฉพาะตัวของทั้งโลกและดาวเสาร์ โดยแกนของดาวเสาร์เอียง 26.73 องศาจากแนวตั้งในขณะที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ ซึ่งคล้ายกับการเอียงที่ 23.5 องศาของโลก ตามที่ระบุไว้ในข้อมูลขององค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐ หรือนาซา
เมื่อดาวเคราะห์แต่ละดวงหมุนรอบตัวเองและโคจรรอบดวงอาทิตย์ไปพร้อมๆ กัน รูปลักษณ์ของดาวเสาร์ รวมถึงวงแหวน อาจดูแตกต่างกันไปเมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือหอดูดาวกำลังขยายสูงจากบนโลก
ในบางครั้งคราว มุมเอียงของดาวเสาร์ที่หันไปทางโลก อยู่ในองศาที่ทำให้มองเห็นเพียงเส้นขอบวงแหวนเส้นบางๆ จึงดูคล้ายกับว่าวงแหวนของดาวเสาร์หายไป
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา วงแหวนขนาดใหญ่ของดาวเสาร์ ดูเหมือนจะบางลงเรื่อยๆ เมื่อมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดิน ภายในวันอาทิตย์ที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา วงแหวนจะเอียงในองศาที่ขอบวงแหวนหันเข้าหาโลกพอดี ทำให้ดูเหมือนมีเพียงเส้นบางๆ พาดผ่านดาวเสาร์แทนที่จะเป็นแถบวงแหวนขนาดใหญ่
ภาพลวงตาของ “ดาวเสาร์ไร้วงแหวน” นี้ เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยจะอยู่ได้เพียง 1-2 วันเท่านั้น ก่อนที่แถบวงแหวนจะเริ่มปรากฏขึ้นอีกครั้ง
เหตุการณ์ที่มีชื่อเรียกว่า “ปรากฏการณ์การข้ามระนาบวงแหวน” (Ring-plane crossing) นี้ เกิดขึ้นไม่บ่อย โดยจะเกิดขึ้น 2 ครั้ง ในช่วงเวลา 29.4 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ดาวเสาร์โคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ซึ่งหมายความว่าเราสามารถมองเห็นปรากฏการณ์นี้จากโลกได้ทุก 13-15 ปี
อย่างไรก็ตาม น่าเสียดายที่คราวนี้ดาวเสาร์จะโคจรมาใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไปจนอาจทำให้ผู้สังเกตการณ์ท้องฟ้าไม่สามารถเห็นดาวเสาร์ไร้วงแหวนได้ชัด แต่จะมีโอกาสได้สังเกตการณ์กันอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ ประมาณวันที่ 23 พ.ย. 2568 แต่แถบวงแหวนจะไม่ถึงกับบางลงจนดูเหมือน “หายไป”
ถัดจากครั้งนี้แล้ว เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ดาวเสาร์ไร้วงแหวนอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้งในปี 2581 หรืออีก 13 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ชัดเจนกว่าครั้งนี้
ที่มา : nbcnews.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, Cassini-Huygens / NASA / JPL-Caltech / Space Science Institute