นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ขนย้ายแคร่รถไฟขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ KIHA 40 และ 48 จำนวน 20 คัน ไปยังโรงงานมักกะสัน เพื่อปรับขนาดเพลาล้อให้เข้ากับมาตรฐานรางของประเทศไทยที่กว้าง 1 เมตรแล้ว คาดว่าใช้เวลาประมาณ 25-30 วัน ก่อนจะส่งไปประกอบเข้ากับตัวรถที่สถานีแหลมฉบัง จากนั้นขบวนรถจะถูกนำกลับมายังโรงงานมักกะสันอีกครั้ง เพื่อปรับปรุงสภาพตามมาตรฐานของ รฟท. โดยจะมีการตรวจสอบอุปกรณ์ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น ระบบส่วนล่าง ระบบส่งกำลัง ระบบห้ามล้อ รวมถึงการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ จะใช้เวลาประมาณ 60 วัน

นายวีริศ กล่าวต่อว่า คาดว่าประมาณปลายเดือน มิ.ย. 68 จะสามารถนำรถไปทดสอบระบบต่างๆ เพื่อตรวจสอบทางด้านวิศวกรรม เช่น อัตราเร่ง ระยะห้ามล้อ ติดตั้งระบบ Vigilance ตรวจสอบการสั่นสะเทือนทางกล และระบบเครื่องปรับอากาศ เมื่อทดสอบเสร็จแล้วจึงจะนำกลับมาปรับปรุงสีภายนอก และห้องสุขา ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับปรุงให้แล้วเสร็จ และให้บริการได้ภายในปี 2568 จำนวน 6 คัน และจะทยอยปรับปรุงจนครบ 20 คันต่อไป เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้บริการ

นายวีริศ กล่าวอีกว่า รฟท. มีแผนนำขบวนรถดังกล่าวเปิดให้บริการเสริมขบวนรถโดยสารชานเมือง (FEEDER) เพื่อขนส่งผู้โดยสารระหว่างปริมณฑลและกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเมืองอย่างไร้รอยต่อ ตลอดจนสามารถรองรับปริมาณการเดินทางที่เพิ่มขึ้นของประชาชนให้เดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สำหรับขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศที่ รฟท. ได้รับมอบจากบริษัท JR EAST จำนวน 20 คัน ประกอบด้วย ขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น 40 จำนวน 9 คัน มีห้องขับสองด้าน (Double Cab) ความจุสูงสุด 65 ที่นั่ง/ตู้ แบ่งเป็นเบาะรูปแบบนั่งยาว 2 คัน และนั่งขวาง 7 คัน รวมทั้งมีห้องสุขาทั้งสองด้าน และขบวนรถดีเซลรางปรับอากาศ รุ่น 48 จำนวน 11 คัน มีห้องขับเพียงหนึ่งด้าน (Single cab) และห้องสุขาอีกหนึ่งด้าน มีเบาะรูปแบบนั่งยาวทั้งคัน ความจุสูงสุด 82 ที่นั่ง/ตู้

ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้มอบขบวนรถโดยสารให้กับประเทศไทยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา รวมแล้ว 5 ครั้ง จากทั้งบริษัท JR West และ JR Hokkaido โดยครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 6 และเป็นครั้งแรกที่ รฟท. ได้รับขบวนรถโดยสารจากบริษัท JR EAST เพื่อนำมาปรับปรุง และใช้ในกิจการรถไฟ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน ทั้งนี้ รฟท. มั่นใจว่า ขบวนรถดีเซลราง KIHA 40 และ 48 จะเข้ามาช่วยเสริมทัพขบวนรถโดยสารชานเมือง เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางของผู้ใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้ได้รับการเดินทางที่สะดวก รวดเร็วและปลอดภัย

โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนทำงานที่ใช้บริการเป็นประจำ ซึ่งนอกจากจะเป็นการยกระดับคุณภาพการเดินทางของประชาชนแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนนโยบายของกระทรวงคมนาคม และรัฐบาล ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น เพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิง บรรเทาปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อม และช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน.