คุณเคยเป็นไหม? อ่านหนังสือดีๆ จบไป แต่พอจะคุยเรื่องหนังสือกับใครสักคน กลับจำอะไรแทบไม่ได้เลย!

มันน่าหงุดหงิดใช่ไหมล่ะ?

อุตส่าห์ใช้เวลาเป็นเดือนๆ อ่านหนังสือเล่มนั้น แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นแค่ความบันเทิง ไม่ใช่การลงทุนในความรู้เลย รู้สึกเหมือนเสียเวลาไปเปล่าๆ

และที่แย่กว่านั้นคือ… มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า!

คุณเริ่มคิดว่าตัวเองอาจจะความจำไม่ดี แต่เดี๋ยวก่อน! การลืมเนื้อหาส่วนใหญ่ที่อ่านไม่ใช่ข้อบกพร่องส่วนตัว แต่เป็นวิธีการอ่านหนังสือของคุณต่างหากที่มีปัญหา

อ่านหนังสือจบแล้ว แม้จะรู้สึกว่านี่เป็นหนังสือที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งที่เคยอ่าน แต่กลับลืมเนื้อหาในนั้นแทบทั้งหมด มันแย่มาก!

แต่ถ้าคุณเข้าใจว่า “ความจำทำงานอย่างไร?” ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป

คุณจะสามารถอ่านหนังสือ และจดจำเนื้อหาได้ถึง 80% อย่างง่ายดาย
สามารถอธิบายแนวคิดที่ซับซ้อนในการสนทนาธรรมดาๆ ได้
สามารถนึกถึงไอเดียที่น่าสนใจ และนำมาปรับใช้ในงานของตัวเองได้
สุดท้าย คุณจะรู้สึกว่าการอ่านหนังสือเป็นการลงทุนในความรู้อย่างแท้จริง

7 กลยุทธ์ง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณจำเนื้อหาที่อ่านได้ถึง 80%:

1) อย่าปล่อยให้สิ่งรบกวนดึงความสนใจไป

คุณรู้จัก “เนลสัน เดลลิส” (Nelson Dellis) ไหม?

เขาคือตำนานในโลกของการแข่งขันความจำ

เขาจำตัวเลข 339 หลักได้ภายใน 5 นาที
เขาจำชื่อ 217 ชื่อได้ภายใน 15 นาที
เขาจำไพ่ทั้งสำรับได้ภายใน 30 วินาที
เขาชนะการแข่งขันความจำแห่งสหรัฐอเมริกาหลายครั้ง และติดอันดับสูงระดับโลก

เขาทำได้อย่างไร? ตามที่ เนลสัน บอก มันเริ่มต้นจากสิ่งที่ชัดเจนที่สุด นั่นคือ ตั้งใจในสิ่งที่อ่าน อย่าว่อกแว่ก!!

กำจัดสิ่งรบกวนขณะอ่าน เก็บโทรศัพท์ใส่กระเป๋า ปิดแล็ปท็อป และฟังเพลงบรรเลง อย่าพยายามตั้งใจอ่านแบบครึ่งๆ กลางๆ ไม่ร้องเพลงตามขณะอ่าน ไม่เช็กโทรศัพท์ทุกๆ 2 นาที ตั้งใจอ่านอย่างเต็มที่ ขณะอ่าน ให้ถามตัวเองอยู่เสมอว่า “ฉันจะนำสิ่งนี้ไปใช้ในชีวิตได้อย่างไร?” การถามคำถามนี้จะช่วยให้คุณจดจ่อกับการมองหาประโยคสำคัญในหนังสือ ที่จะติดอยู่ในความทรงจำของคุณไปอีกนาน

2) จินตนาการว่ากำลังดูหนัง

คุณเคยอ่านหนังสือดีๆ แต่จำอะไรไม่ได้เลยหลังจากนั้นไหม? ถ้าเคย นี่คือสิ่งที่คุณควรทำในครั้งต่อไปที่อ่าน

อย่างแรก ตั้งใจอ่าน อย่าว่อกแว่ก
อย่างที่สอง ขณะอ่าน ให้จินตนาการว่ากำลังดูหนัง พยายามนึกภาพสิ่งที่อ่านในใจ แน่นอนว่าคุณไม่สามารถนึกภาพทุกสิ่งที่อ่านได้ แต่คุณสามารถนึกภาพรวมของสิ่งที่กำลังอ่านได้

เมื่ออ่านหนังสือ ให้จินตนาการว่าสิ่งที่กำลังอ่านกำลังฉายบนจอภาพยนตร์ขนาดใหญ่ และเรากำลังเป็นผู้ชม ดูทุกอย่างที่เกิดขึ้น

ทำไมสิ่งนี้ถึงช่วยได้? เพราะสมองของเราถูกสร้างมาให้จำข้อมูลบางประเภทได้ดีกว่าประเภทอื่นๆ

ตามงานวิจัยด้านความจำ ภาพที่มองเห็นได้จะติดอยู่ในสมองของเราได้ดีกว่าสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น คำศัพท์ธรรมดาๆ ดังนั้นไม่ว่าคุณกำลังอ่านอะไรอยู่ ให้พยายามนึกภาพมันราวกับว่า มันเป็นความทรงจำของคุณเอง

วิธีนี้อาจไม่รับประกันว่ารายละเอียดทั้งหมดจะติดอยู่ในสมองของคุณ 100% แต่คุณจะมีโอกาสจำสิ่งที่คุณอ่านได้ดีขึ้นอย่างมาก

3) เขียนด้วยมือ (ไม่ใช่พิมพ์) ไอเดียที่น่าสนใจที่อ่านเจอ

ในฐานะมนุษย์ เราแย่มากในการจดจำข้อมูล เราลืมเกือบทุกสิ่งที่อ่าน แต่เมื่อเราเขียนสิ่งต่างๆ ลงไป มีแนวโน้มที่เราจะจดจำมันได้มากขึ้น

นี่คือสิ่งที่ บีโธเฟ่น (Beethoven) ทำเมื่อเขาแต่งเพลง ในหนังสือ “Managing Oneself” ของ ปีเตอร์ ดรัคเกอร์ (Peter Drucker) เขียนไว้ว่า

“Beethoven ทิ้งสมุดร่างไว้มากมาย แต่เขาไม่เคยดูมันเลยเมื่อเขาแต่งเพลง เมื่อถูกถามว่าทำไมเขาถึงเก็บมันไว้ เขาตอบว่า ‘ถ้าฉันไม่เขียนมันลงไป ฉันจะลืมมันทันที ถ้าฉันเขียนมันลงในสมุดร่าง ฉันจะไม่ลืมมันอีกเลย และฉันก็ไม่ต้องกลับไปดูมันอีก'”

ตามงานวิจัยหลายชิ้น เมื่อคุณจดบันทึกด้วยมือ คุณจะจดจำข้อมูลได้มากขึ้น

เพราะเมื่อคุณจดบันทึกด้วยมือ คุณจะไม่เขียนทุกคำที่คุณอ่าน คุณจะเขียนเฉพาะคำที่จำเป็นเท่านั้น สิ่งนี้ช่วยให้คุณแยกแยะระหว่างสิ่งที่สำคัญกับสิ่งที่ไม่สำคัญได้ สิ่งนี้ช่วยให้คุณสังเคราะห์ข้อมูลได้ดีขึ้น

4) เรียนรู้ที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับหนังสืออย่างเต็มที่

“การอ่านควรเป็นกระบวนการเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับ”

ดังนั้น ถ้าคุณกำลังอ่านหนังสือ และไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาอย่างเต็มที่ คุณก็จะลืมเนื้อหาส่วนใหญ่ไปโดยธรรมชาติ

แล้วคุณจะเป็นนักอ่านเชิงรุกได้อย่างไร? มีหลายวิธี แต่มี 4 กลยุทธ์ที่แนะนำ:

  • ขีดเส้นใต้หรือไฮไลต์ ประโยคหรือย่อหน้าที่สำคัญและน่าจดจำ
  • เพิ่มสัญลักษณ์ เช่น ดาว สำหรับประโยคสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณ หรือเครื่องหมายคำถาม เพื่อระบุประโยคที่คุณสงสัย หรือสิ่งที่คุณต้องการค้นคว้าเพิ่มเติม
  • เขียนความคิดหรือคำถามที่คุณมีไว้ที่ขอบหน้ากระดาษ
  • หลังจากอ่านหนังสือทั้งเล่มแล้ว ให้กลับไปติดกระดาษโน้ตบนประโยค หรือย่อหน้าที่สำคัญที่สุดในหนังสือ

การทำสิ่งเหล่านี้ 4 อย่าง จะช่วยให้คุณหยิบหนังสือออกจากชั้นวางได้ทุกเมื่อ และเมื่อเปิดไปที่หน้าใดก็ได้ คุณจะสามารถฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับมันได้

คุณอาจลังเลที่จะทำสิ่งเหล่านี้ เพราะไม่อยากทำอย่างงั้นกับหนังสือ เนื่องจากบางเล่มมีราคาแพงมาก แต่จงรู้ไว้ว่า.. “สิ่งที่สำคัญไม่ใช่หนังสือ แต่เป็นสิ่งที่คุณได้จากการอ่านหนังสือ” มันจะเป็นบาปในการอ่าน ถ้าคุณอ่านแล้ว ไม่ได้ในสิ่งที่หนังสือต้องการสื่อสาร

5) นำสิ่งที่อ่านไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

การไฮไลต์และการจดโน้ตอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยให้คุณจำเนื้อหาในหนังสือได้นานนัก!

การไฮไลต์ไม่ได้ช่วยให้คุณจำข้อมูลได้ดีขึ้น แต่ช่วยให้คุณรู้ว่าต้องกลับไปอ่านส่วนไหนอีกครั้งเท่านั้นเอง

ความลับของความทรงจำคือ เราจำสิ่งที่เรา “ใช้” ได้ดีกว่า

ลองนึกภาพว่า ถ้าคุณอ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ ถ้าคุณอยากจำสิ่งที่อ่านได้ คุณก็ต้องนำมันไปใช้เพื่อดูแลสุขภาพ

ถ้าคุณอ่านหนังสือสุขภาพ แล้วไฮไลต์ข้อความไปทั่ว แต่ยังกินเหมือนเดิม ออกกำลังกายแบบเดิม และนอนเหมือนเดิม คุณจะจำอะไรไม่ได้เลย!

ดังนั้น ถ้าคุณไม่นำความรู้จากหนังสือมา “ลงมือทำ” คุณก็จะลืมมันไป

สุดท้าย คุณก็จะรู้สึกว่า “อ่านหนังสือมาตั้งเยอะ แต่ทำไมจำอะไรไม่ได้เลย?”

ก็เพราะคุณไม่ได้เอาความรู้ไปใช้จริง

6) สอนผู้อื่นในสิ่งที่คุณอ่าน

ลองจินตนาการว่าคุณมีถังน้ำ และทุกครั้งที่คุณพยายามเติมน้ำลงในถัง น้ำ 90% ก็รั่วไหลออกมา แล้วคุณจะยังเติมน้ำลงในถังต่อไป หรือจะซ่อมรอยรั่ว?

แน่นอนว่าคุณต้องซ่อมรอยรั่ว!

น่าเสียดายที่เมื่อพูดถึงการเรียนรู้ ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงเติมน้ำลงในถังโดยไม่เคยคิดถึงรอยรั่วเลย

ด้วยเหตุนี้ เกือบทุกคนจึงสูญเสียการเรียนรู้ไป 90% เพียงเพราะพวกเขาไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่า “พีระมิดการเรียนรู้”

โดยพื้นฐานแล้ว พีระมิดการเรียนรู้บอกว่า คุณจะจดจำข้อมูลที่คุณอ่านได้ถึง 90% หากคุณตัดสินใจที่จะสอนมันให้กับผู้อื่น

เมื่อคุณพยายามสอนสิ่งที่คุณอ่าน คุณจะไม่ใช้คำพูดของผู้เขียนทั้งหมด แต่คุณจะใช้คำพูดของคุณเอง สิ่งนี้บังคับให้สมองของคุณเรียนรู้ข้อมูลได้ดีขึ้น

ดังนั้น ครั้งต่อไปที่คุณอ่านเจอไอเดียที่น่าสนใจ ให้พยายามแบ่งปันมันกับผู้อื่น ถามสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนว่า “นี่ๆ ขอแชร์ไอเดียที่น่าสนใจจากหนังสือที่ฉันกำลังอ่านหน่อยได้ไหม?” และพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่คุณเพิ่งอ่านเป็นเวลา 2-3 นาที

จำไว้ว่า การอ่านทำให้คุณมีอัตราการจดจำเพียง 10% ซึ่งแย่มาก! คุณจึงต้องจด และนำไปสอนผู้อื่น เพื่อจะได้จำได้มากขึ้น

7) ทบทวน ทบทวน ทบทวน!

มีคนบางกลุ่มที่อ่านหนังสือเพียงครั้งเดียว และจดจำข้อมูลทั้งหมดในหนังสือเล่มนั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ แต่สำหรับพวกเรา 99% ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เราอ่านในหนังสือจะถูกลืมได้ง่าย

เราลืมข้อมูลใหม่เกือบทั้งหมดภายใน 24 ชั่วโมงแรก หากไม่ทบทวนข้อมูลที่เพิ่งเรียนรู้ ข้อมูลส่วนใหญ่จะหลุดออกจากสมองของหลังจากวันแรก และหลุดออกไปมากขึ้นในวันต่อๆ ไป เหลือเพียงเศษเสี้ยวของสิ่งที่คุณเรียนรู้มา

เมื่อเราอ่านหนังสือ เราจะรู้สึกเหมือนว่าเรากำลังจดจำสิ่งที่เราอ่าน ข้อมูลกำลังไหลเข้ามา เราเข้าใจมัน และมันกำลังประกอบกัน แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้ติดอยู่ในหัวของเราหากเราไม่ทบทวนสิ่งที่เราอ่าน

เราต้องทบทวนแบบเว้นระยะ! กลยุทธ์ที่แนะนำคือ “กฎ 5 ครั้ง”

กฎ 5 ครั้งบอกว่า หลังจากที่คุณเรียนรู้สิ่งที่คุณต้องการจดจำในระยะยาว คุณควรทบทวนข้อมูลที่คุณพยายามจดจำในช่วงเวลาต่อไปนี้:

5 ครั้งในวันแรก
วันละครั้งเป็นเวลา 5 วัน
สัปดาห์ละครั้งเป็นเวลา 5 สัปดาห์

หลังจากนั้น คุณก็จะจดจำได้

จำไว้ว่า ข้อมูลจะถูกเสริมสร้างเข้าไปในความทรงจำระยะยาวของคุณโดยการทบทวนเท่านั้น ดังนั้นหากไม่ทบทวน สิ่งที่คุณเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสสูงที่จะลืมมันไป

อย่างไรก็ตาม การใช้กฎ 5 ครั้ง จะช่วยให้คุณจดจำข้อมูลใดๆ ก็ตามที่คุณอ่านในหนังสือได้ตลอดชีวิต.

ที่มาและภาพ : medium, Vincent Carlos, Yiqun Tang on Unsplash