เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 68 นพ.ฆนัท ครุธกูล อายุรแพทย์โรคหัวใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ และนายกสมาคมโภชนาการเพื่อกีฬาและสุขภาพ  โพสต์ในเฟซบุ๊ก “คุยกับหมอฆนัท” ได้โพสต์ตอบคำถามถึงลูกเพจที่ถามถึงการอดอาหาร แต่ทำไมน้ำหนักไม่ยอมลด พร้อมระบุข้อความว่า “การอดอาหารอาจไม่ได้ทำให้น้ำหนักลดลงตามที่คาดหวังได้เสมอไป เนื่องจากร่างกายมีการปรับตัวและกลไกการป้องกัน เพื่อรักษาสมดุลพลังงานในหลายๆด้าน”

  1. การชะลอการเผาผลาญ
    เมื่อร่างกายรับพลังงานน้อย ร่างกายอาจปรับลดอัตราการเผาผลาญ (Basal Metabolic Rate) เพื่อรักษาพลังงานไว้ ทำให้การเผาผลาญแคลอรีโดยรวมลดลง
  2. การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
    ถ้าหากการอดอาหารไม่ได้มาพร้อมกับการรับประทานโปรตีนที่เพียงพอหรือการออกกำลังกายเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ ร่างกายอาจสลายกล้ามเนื้อเพื่อใช้เป็นพลังงาน ซึ่งเป็นผลเสียเพราะกล้ามเนื้อมีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญแคลอรี
  3. การชดเชยในช่วงเวลาอื่น
    บางคนเมื่ออดอาหารในช่วงเวลาหนึ่ง อาจเกิดความหิวและกินมากในช่วงเวลาที่สามารถรับประทานได้ ทำให้ปริมาณแคลอรีรวมต่อวันยังคงสูงอยู่
  4. ความเครียดและฮอร์โมน
    การอดอาหารอาจกระตุ้นความเครียดในร่างกาย ทำให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจทำให้ร่างกายเก็บไขมันมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง
  5. การรักษาน้ำและเกลือ
    การเปลี่ยนแปลงในระดับฮอร์โมนและสมดุลของเกลือในร่างกายอาจส่งผลให้ร่างกายเก็บน้ำไว้มากขึ้นในช่วงแรกๆ ของการอดอาหาร ทำให้น้ำหนักที่ปรากฏไม่ลดลงชัดเจน

อย่างไรก็ตาม “การลดน้ำหนักที่ยั่งยืนไม่ใช่แค่การอดอาหารเพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องพิจารณาการรับประทานอาหารที่มีคุณภาพ การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการดูแลสุขภาพจิตเพื่อให้ร่างกายทำงานอย่างสมดุลในทุกด้าน หากมีความกังวลเกี่ยวกับน้ำหนัก ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ หรือแพทย์เพื่อการวางแผนที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล“ นพ.ฆนัท กล่าว

ขอบคุณข้อมูล : คุยกับหมอฆนัท