เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 68 นายธนกร ถาวรชินโชติ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะ รองประธานกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ และประธานอนุกรรมาธิการด้านการประมง พร้อมด้วย นายณัฐพงศ์ วรรณพัฒน์ ประมงจังหวัดชลบุรี น.ส.อุรุอายา บุญนำมา ประมงอำภอสัตหีบ และนายประเสริฐ พิทักษ์กรณ์ นายกสมาคมการประมงแสมสาร ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ปลาหมอคางดำระบาด และลงพื้นที่ตรวจสอบ ร่องน้ำธรรมชาติ ที่ไหลออกสู่ทะเล บริเวณโค้งพญายม ชุมชนบ้านช่องแสมสาร ต.แสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

นายธนกร ถาวรชินโชติ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า การเดินทางลงพื้นที่มาในวันนี้ สืบเนื่อง เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 68 ที่ผ่านมา ชาวประมงเรือเล็กแสมสาร ที่ได้ออกไปวางอวนล่าปลากระบอก ในทะเลหน้าอ่าวแสมสาร แต่กับติดปลาหมอคางดำขึ้นมาเป็นจำนวนนับ 10 ตัว สร้างความหวาดวิตกให้กับชาวประมง ซึ่งก่อนหน้านี้ จำนวนสัตว์ทะเลบริเวณชายฝั่ง ได้มีจำนวนลดน้อยไปจากเดิม อย่างไม่ทราบสาเหตุ จนกระทั่งมาพบมีปลาหมอคางดำในทะเล ซึ่งชาวประมง และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าอาหารทะเล ในพื้นที่แสมสารต่างกังวล หากมีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งถือเป็นปลานักล่า ในทะเลแสมสาร จะส่งผลต่อกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลอย่างแน่นอน

ซึ่งภายหลังรับเรื่อง ได้ให้ทางประมงจังหวัดชลบุรี ร่วมกับประมงสัตหีบ และกลุ่มประมงแสมสาร ทำการออกสำรวจ บริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลออกสู่ทะเล โดย หน่วยงานศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสมุทรปราการ ลงพื้นที่พิสูจน์ทราบ ทำการหว่านแหในร่องน้ำธรรมชาติ บริเวณโค้งพญายม เป็นอันดับแรก ปรากฏพบมีปลาหมอคางดำอาศัยอยู่ ตลอดจนได้รับรายงานจากประมงเรือเล็ก ยังสามารถจับปลาหมอคางดำได้ทุกวันอย่างต่อเนื่อง

หลังจากนี้ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เข้าดำเนินการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่ามีจำนวนมากน้อยเพียงใด แต่มีอยู่ในพื้นที่อย่างแน่นอน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้น จึงให้หน่วยงานเร่งเข้าดำเนินงานตรวจสอบแหล่งที่มา และแหล่งต้นกำเนิดของปลาหมอคางดำ ที่มีอยู่ในขณะนี้ เพื่อทำการไล่ล่าสกัดจับให้สิ้นซากหมดไป โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบที่แน่ชัด เพื่อเตรียมผลักดันเข้าสู่วาระเร่งแก้ไข เพราะหากปลาหมอคางดำสามารถขยายพันธุ์ หรือแพร่ระบาดในทะเล ซึ่งเป็นพื้นที่ไม่มีขีดจำกัด อาจเป็นผลเสียอย่างรุนแรงตามมาอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือไปยังชาวประมงเรือเล็ก ที่ออกหาปลาชายฝั่ง ให้ช่วยกันวางอวนดัก เพื่อทำการไล่ล่าปลาหมอคางดำ ที่อาศัยอยู่ในทะเล อีกทั้ง แจ้งให้ชาวประมงทราบถึงปลาหมอคางดำ แม้จะเป็นปลานักล่า สามารถกินได้ทั้งแพลงก์ตอน สัตว์เล็กสัตว์น้อย รวมถึงสัตว์มีกระดอง ปู หอย ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ แต่ก็ยังมีประโยชน์ แม้จะมีคุณลักษณะที่มีกลิ่นคาว และมีก้าง มากกว่าปลาทั่วไป แต่สามารถรับประทานได้ เนื้อคล้ายปลานิล ประกอบอาหารได้ทุกอย่าง แนะนำไปทำเมนูอาหารเลิศรส อาทิ ปลาแดดเดียวเค็ม ซึ่งกินกับข้าวสวยร้อนๆ หรือข้าวเหนียว จะอร่อยมาก อีกทั้ง ลูกชิ้น ทอดมัน แกงส้ม ก็มีรสชาติอร่อยไม่แพ้กัน

ด้าน นายณัฐพงศ์ วรรณพัฒน์ ประมงจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า หลังมีการพบปลาหมอคางดำ ในทะเลแสมสาร ได้รายงานให้ทางอธิบดีกรมประมง และผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี รับทราบแล้ว ซึ่งก่อนหน้าในปี 2567 พื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ก็มีรายงานการพบหมอคางดำ ในลักษณะเช่นนี้ คือ พบในคลองแหล่งน้ำที่เชื่อมต่อออกทะเล เพื่อทำการวางไข่เลี้ยงตัวอ่อน โดยจะดำเนินการใช้กากชา ในสัดส่วนที่ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และสัตว์น้ำในทะเล ก็จะสามารถทำให้จำนวนประชากรของปลาหมอคางดำลดน้อยลง หรือแทบไม่หลงเหลืออยู่ ซึ่งในพื้นที่อำเภอสัตหีบ อยู่ในระหว่างการตรวจสอบ และหากพบแหล่งกำเนิด ก็จะเร่งดำเนินการตามวิธีที่กรมประมงกำหนดต่อไป