เมื่อวันที่ 22 มี.ค. รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า ความคาดหวังทางการเมืองต่อการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในปัจจุบัน แตกต่างไปจากอดีตที่สามารถสร้างแรงกดดันรัฐบาลได้ สามารถปิดเกมกันในสภา หรือรัฐมนตรีบางรายถึงกับชิงลาออกไปก่อน เพราะไม่อยากถูกอภิปรายหรือถูกเปิดเผยข้อมูลกลางสภา ในขณะที่ประชาชนทั่วทั้งประเทศรับชมอยู่ ทว่าในปัจจุบันทุกคนทราบดีว่า คงไม่สามารถล้มรัฐบาลผ่านการโหวตลงคะแนนเสียงได้
ฉะนั้นในการอภิปรายที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24-25 มี.ค. นี้ ฝ่ายค้านย่อมทราบดีว่า ตัวเองมีคะแนนเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) น้อยกว่ารัฐบาล จึงอาจจะไม่หวังผลให้รัฐบาลชุดนี้สิ้นสุดลงในทันทีที่จบการอภิปราย แต่หวังให้ผลพวงจากการอภิปราย การชี้ให้เห็นข้อบกพร่องและข้อผิดพลาด ถูกนำขยายต่อในเวลาถัดไปเพื่อสร้างแรงกดดันเป็นระยะๆ เปรียบได้กับการปลูกต้นไม้แห่งความไม่ไว้วางใจลงไปในใจประชาชน ซึ่งถือเป็นการหวังผลทางการเมืองในระยะยาว
“การอภิปรายไม่ไว้วางใจในปัจจุบัน ก็เหมือนการสอบย่อย โดยมีประชาชนเป็นผู้ให้คะแนนเนื้อหาข้อมูล ที่ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลนำเสนอ จะถูกนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกตั้งใหญ่ในครั้งต่อไป”

รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การที่ฝ่ายค้านล็อกเป้าอภิปราย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไว้เพียงคนเดียว ส่วนตัวมองว่าเป็นได้ทั้งวิกฤติและโอกาสครั้งสำคัญของ น.ส.แพทองธาร เพราะจะเป็นเวทีในการแสดงให้ประชาชนเห็นถึงความสามารถ ศักยภาพ และการทำงานว่า น.ส.แพทองธาร ทำงานจริงหรือไม่ และมีความเข้าใจในงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะแสดงออกผ่านการตอบคำถาม ดังนั้นหากทำได้ดีตอบได้กระจ่าง ก็จะลบคำปรามาสหรือข้อครหาเรื่องภาวะผู้นำลงไปได้ แต่หากทำได้ไม่ดีก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม
ในฐานะนักวิชาการ สิ่งที่อยากเห็นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้คือไหวพริบปฏิภาณ การโต้ตอบที่รวดเร็วทันควันของนักการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยทั้งหมดต้องอิงอยู่บนฐานข้อมูลและข้อเท็จจริง เพราะสิ่งเหล่านี้คือคุณสมบัติพื้นฐานของนักการเมือง คนที่มีปฏิภาณไหวพริบดี-ตอบโต้ได้ดีในทันทีคือคนที่สอบผ่าน เมื่อโดนถามเขาจะตอบโต้ได้เลยรึเปล่า หรือจะบอกว่าต้องรอข้อมูลก่อน หรือฝ่ายค้าน หากรัฐบาลแจงมาว่าสิ่งที่กล่าวหามีข้อมูลไม่ถูกต้อง ฝ่ายค้านสามารถโต้กลับได้หรือไม่ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงความใส่ใจว่าเราทำงานจริง ถ้าทำงานจริงข้อมูลจะอยู่ในหัวโดยไม่ต้องรอรายงาน
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งความน่าสนใจของศึกซักฟอกในครั้งนี้ คือการกลับเข้ามามีบทบาทในสภาอีกครั้งของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่จะเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายของฝ่ายค้าน ภายหลังจากที่ก่อนหน้านี้พรรคพลังประชารัฐ ดูเหมือนจะจางหายไปจากความสนใจของสื่อและประชาชน จึงต้องจับตาดูว่า พล.อ.ประวิตร จะช่วยปลุกกระแสให้กับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่
สำหรับช่วงเวลาในการการอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างวันที่ 24-25 มี.ค. นี้ มีการกำหนดระยะเวลาการอภิปรายในวันแรกไว้ที่ 08.00-05.30 น. ส่วนตัวมองว่า ไม่มีความเหมาะสม เป็นการจัดสรรเวลาที่ยึดเอาความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองมากเกินไปโดยไม่คำนึงถึงประชาชนที่เฝ้ารอและติดตามการถ่ายทอดสดแบบเรียลไทม์ อภิปรายกันตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึงตี 5 ครึ่ง แล้วเริ่มอภิปรายกันอีกครั้งตอน 8 โมงเช้าของอีกวัน “คำถามก็คือแล้วจะให้ใครดู?” มันเหมือนกับการทำให้มันจบๆ ไป ไม่ได้คิดคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน อย่าไปบอกว่ามันสามารถดูย้อนหลังผ่านยูทูบ หรือคลิปติ๊กต็อกได้ เพราะทุกคนอยากดูผล ณ เวลานั้น เกิดความรู้สึกเซอร์ไพร้ส์ต่อข้อมูล ณ เวลานั้น แต่ก็เป็นไปได้ว่าบริบทการเมืองอาจเปลี่ยนไป
ต่อข้อถามถึงเมื่อถามถึงการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือการสั่นสะเทือนความเป็นปึกแผ่นภายในพรรคร่วมรัฐบาลหลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ ตอบว่า เชื่อมั่นว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะยังคงผนึกกำลังกันแน่น เพราะตามหลักการคงไม่มีใครอยากจะกลับมาเป็นฝ่ายค้าน หรือเกิดการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ในเร็ววันนี้ คิดว่าหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับ ครม. ซึ่งเป็นสไตล์การทำงานของพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว ที่น่าสนใจคือจะปรับแบบไหน ถ้าปรับบุคคลภายใต้โควตากระทรวงของพรรคเดิม ก็ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามีการสับเปลี่ยนโควตาของพรรค มีการแลกเปลี่ยนกระทรวงระหว่างกันอันนี้ ก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่ที่สุดแล้วด้วยความเป็นปึกแผ่นของพรรคร่วมในขณะนี้ เชื่อว่าจะสามารถหาทางเจรจากันได้ในท้ายที่สุด” รศ.ดร.อรรถสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามอีกว่า พรรคประชาชนได้เน้นย้ำว่ามีหลักฐานในการมัดตัวรัฐบาลว่าจะดิ้นไม่หลุด และพร้อมจะดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป สิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดแตกหักระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนหรือไม่
นักวิชาการธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทุกพรรคการเมืองย่อมต้องการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง และต้องการเข้าไปเป็นที่หนึ่งในใจคน ฝ่ายค้านจึงต้องแสดงบทบาทให้ประชาชนเห็นว่า เขาคือตัวเลือกที่ดีกว่าในการเป็นรัฐบาล และเหมาะสมจะเป็นพรรคอันดับหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า การเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูที่ถาวร หากพรรคประชาชนพ่ายแพ้ ไม่ได้เป็นพรรคอันดับหนึ่ง หรือชนะ แต่ไม่ขาด ก็จำเป็นต้องหาพรรคร่วม เมื่อถึงวันนั้นอะไรก็ย่อมเกิดขึ้นได้ เราจึงไม่สามารถพูดได้ว่า เพราะเหตุการณ์วันนี้ จะทำให้ทั้ง 2 พรรค ไม่สามารถจับมือกันได้อีกเลย.