สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 มี.ค. ว่า สืบเนื่องจากกรณีสหรัฐส่งตัวชาวเวเนซุเอลา 238 คน ซึ่งต้องสงสัยเป็นสมาชิกแก๊งเตรน เดอ อารากัว หนึ่งในแก๊งค้ายาเสพติดรายใหญ่ของเวเนซุเอลา ไปคุมขังยังเรือนจำความมั่นคงสูงสุดในเอลซัลวาดอร์ เมื่อช่วงกลางเดือนนี้ “ตามข้อตกลง” ระหว่างสหรัฐกับเอลซัลวาดอร์


รายงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแถลงการณ์ของทำเนียบขาวในเวลานั้น มีเนื้อหาตรงกันว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ เป็นผู้สั่งการ โดยใช้อำนาจตามกฎหมาย “ศัตรูต่างด้าว” (Alien Enemies Act) ฉบับปี 2341 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มอบอำนาจให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในการควบคุมตัวและผลักดันบุคคลซึ่งไม่ใช่ชาวอเมริกัน และถือเป็นศัตรูของสหรัฐ ในการเนรเทศพลเมืองเวเนซุเอลากลุ่มนี้


ทั้งนี้ มีการยื่นฟ้องศาลในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งผู้พิพากษาเจมส์ โบสเบิร์ก แห่งศาลแขวงรัฐบาลกลาง ในกรุงวอชิงตัน ให้ความเห็นเกี่ยวกับ “ปัญหาของฝ่ายสั่งการด้านนโยบาย” เนื่องจากกฎหมายศัตรูต่างด้าว “ใช้ในยามเกิดศึกสงครามเท่านั้น” และก่อนหน้านั้น โบสเบิร์กออกคำสั่งระงับการเนรเทศครั้งนี้ แต่การส่งตัวกลับยังคงเกิดขึ้น


อย่างไรก็ตาม ทรัมป์กลับกล่าวว่า “ไม่ทราบ” ว่าการลงนามในคำสั่งดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อใด เนื่องจากตัวเขา “ไม่ได้เป็นผู้ลงนาม” และกล่าวว่า นายมาร์โก รูบิโอ รมว.การต่างประเทศ “เป็นผู้จัดการมากกว่า” แม้เว็บไซต์รัฐกิจจานุเบกษาของสหรัฐเผยแพร่คำสั่งที่เกี่ยวข้อง และมีลายเซ็นของทรัมป์อย่างชัดเจน


อนึ่ง นับเป็นเพียงครั้งที่สามในประวัติศาสตร์ของสหรัฐเท่านั้น ที่มีการบังคับใช้กฎหมายศัตรูต่างด้าว ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2355 โดยเป็นการเนรเทศชาวสหราชอาณาจักรกลุ่มหนึ่ง ส่วนครั้งที่สองเป็นการเนรเทศชาวญี่ปุ่น และชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นมากกว่า 100,000 คน ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง.

เครดิตภาพ : AFP