สสส. สานพลังกลุ่มwe!park กทม.จัดงานActive City Forum ที่EM – Glass ชั้น G ศูนย์การค้า Emsphere ะหว่างวันที่21-23 มีนาคม หวังให้คนไทยทุกคนเข้าถึงพื้นที่สุขภาวะ เพื่อสุขภาพที่ดี การจัดงานครั้งนี้มีทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และประสบการณ์ จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคีเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญจาก 5 ประเทศเมืองต้นแบบ รวมทั้งกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ Public Tour สำรวจเมือง 3 เส้นทาง ด้วยกิจกรรมปั่นจักรยาน การเดินเท้าและล่องเรือ

ดร.นพ.ไพโรจน์เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรค NCDs มากขึ้น ส่งผลให้ประเทศต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามูลค่ามหาศาล ซึ่ง 1 ในพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ คือ การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ และออกกำลังกายน้อย คนไทยมีสถิตินั่งนาน 13 ชั่วโมงต่อวัน การพัฒนาพื้นที่สุขภาวะจึงเป็น 1 ยุทธศาสตร์เพื่อเร่งแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น สสส. ได้ร่วมส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างพื้นที่สุขภาวะที่ครอบคลุมหลายมิติ และให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ของตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการต้นแบบที่สามารถขยายผลได้ อาทิ ‘สวน 15 นาที’ ที่เกิดจากความร่วมมือกับกทม. ขณะนี้มีอยู่ถึง199 แห่ง พื้นที่ออกกำลังกายใกล้บ้าน ที่ปลอดเหล้า บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี

นายยศพลบุญสม ภูมิสถาปนิกและหัวหน้าโครงการ we!park กล่าวว่า ปัจจัยในการพัฒนาเมืองสุขภาวะคือเรื่องการออกแบบ ปัญหาภูมิอากาศที่แปรปรวน ฝุ่น PM2.5 ทางเท้าไม่เรียบ พื้นที่สีเขียวมีน้อย สะท้อนได้ว่าการออกแบบเมืองไม่เอื้อให้ขยับร่างกายในทุกๆ มิติ การจัดงานครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญการออกแบบเมืองจาก 5 เมืองต้นแบบ ได้แก่ โคเปนเฮเกน (เดนมาร์ก) สิงคโปร์ โตเกียว มาเลเซีย และอังกฤษ เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการพัฒนาเมืองสุขภาพดี ถือเป็นครั้งแรกที่มีการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญจากด้านสุขภาพ การออกแบบ การพัฒนาเมือง ภาครัฐและภาคเอกชน คนรุ่นใหม่ วิทยากรจากเมืองชั้นนำของเอเชีย ยุโรปในงานเดียวกัน เพื่อร่วมระดมความคิดเห็น บูรณาการองค์ความรู้ สร้างความตระหนักรู้ และค้นหาแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคต เพราะการมีสุขภาพดีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน เปิดโอกาสให้ทุกคน เข้าร่วมฟรี ติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.ticketmelon.com/thaimice และเฟซบุ๊ก wecreatepark

พร้อมกันนี้ในวันนี้ (21 มี.ค.68) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ความสำเร็จของการขยับกรุงเทพฯ ให้เป็น Healthy City และการเข้าถึงพื้นที่สุขภาวะอย่างเท่าเทียม” ในกิจกรรม Active City Forum: กระตุ้นเมืองเพื่ออนาคต
ผู้ว่าฯ ชัชชาติเปรียบเทียบการพัฒนาเมืองว่า “กรุงเทพฯ ก็ไม่ต่างจากร่างกายของเรา” ที่ต้องมีทั้ง “เส้นเลือดใหญ่” และ “เส้นเลือดฝอย” ทำงานร่วมกันอย่างสมดุล โดยเส้นเลือดใหญ่ในที่นี้หมายถึงโรงพยาบาล ส่วนเส้นเลือดฝอย คือศูนย์อนามัยในชุมชน แม้จะมีระบบโรงพยาบาลที่แข็งแรง แต่หากศูนย์อนามัยยังอ่อนแอ ประชาชนก็ยังต้องเดินทางไกลเพื่อรับการรักษา ดังนั้น หัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองคือการเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบบริการสุขภาพระดับชุมชน

ในด้านสุขภาวะและการส่งเสริมการออกกำลังกาย กรุงเทพมหานครมีสวนสาธารณะขนาดใหญ่อย่างสวนเบญจกิติและสวนลุมพินีรองรับประชาชน อย่างไรก็ตาม กทม. ยังเดินหน้ายุทธศาสตร์ “สวนสาธารณะ 15 นาที” เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวใกล้บ้านได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 15 นาที เพิ่มโอกาสในการออกกำลังกายและส่งเสริมสุขภาพทั่วถึงยิ่งขึ้น

อีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญคือโครงการตรวจสุขภาพประชาชนถึงพื้นที่ โดยมีการตรวจสุขภาพแล้วกว่า 1 ล้านคนทั่วกรุงเทพฯ แนวคิดหลักคือ “ไม่ต้องให้ประชาชนไปหาหมอ แต่หมอจะไปหาประชาชน” ผ่านการลงพื้นที่เชิงรุกเพื่อดูแลสุขภาพที่ต้นทาง เข้าใจบริบทโรคของแต่ละเขต และวางแผนการป้องกันที่ตรงจุด

นอกจากนี้ ยังมีโครงการอื่นๆ ที่ผลักดันสุขภาวะในเมือง เช่น
* การปรับปรุงทางเท้าให้ปลอดภัยและเดินได้สะดวก
* การพัฒนาสนามกีฬาและอุปกรณ์ออกกำลังกาย
* การส่งเสริมการปั่นจักรยานภายใต้แนวคิด “First & Last Mile” เพื่อเชื่อมต่อที่พักกับระบบขนส่งสาธารณะ
* การปลูกต้นไม้ในเมืองจำนวนกว่า 1.4 ล้านต้น จากเป้าหมาย 1 ล้านต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว
“สิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายของกรุงเทพมหานครที่สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในการดูแลประชาชน ส่งเสริมให้คนออกกำลังกาย มีสุขภาพแข็งแรงและมีสุขภาวะที่ดียิ่งขึ้น” ผู้ว่าฯ ชัชชาติกล่าว