จากกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา เขต 1 ประธานที่ปรึกษาพรรคกล้าธรรม (กธ.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากเกษตรกรทุเรียนและพืชผลต่างๆ ในพื้นที่ จ.จันทบุรี โดยเฉพาะปมปัญหาของชาวจันทบุรีหลักๆ เกี่ยวกับ น้ำ ช้าง ทุเรียน ดิน ซึ่งเกี่ยวโยงกับการดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ที่ค้างคามานาน เพื่อสนับสนุนโครงการ EEC หรือโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แต่การสร้างนั้นกระทบกับพื้นที่อนุรักษ์และเป็นทางผ่านของช้าง พร้อมระบุเรื่องมาตรการจัดการ ต้องให้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไปดำเนินการศึกษาผลกระทบ ขณะที่ องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนำโดย มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายสิบองค์กร ได้ร่วมสร้างแคมเปญ คัดค้านโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ​.​จันทบุรี พื้นที่อุทยานเขาสิบห้าชั้น ผ่านเว็บไซต์ change.org เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุติโครงการดังกล่าว และหันมาใส่ใจดูแลป่าอย่างจริงจัง นั้น

‘ร.อ.ธรรมนัส’ ลุยฟังปัญหาเกษตรกรชาวจันทบุรี

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากปมปัญหาดังกล่าว การดำเนินการที่มีข้อพิพาทเกี่ยวพันกับกรมอุทยานฯ ต้องผ่านคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ แต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปีประกอบด้วย ประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการท่องเที่ยว อธิบดีกรมป่าไม้ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบดีกรมที่ดิน เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 7 คน (แต่งตั้งโดย ครม.) โดยให้แต่งตั้งจากผู้แทนภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง กรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมีเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นหนึ่งในคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ นี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ทำหนังสือคัดค้านเป็นเอกสารถึงนายกรัฐมนตรี โดยขอคัดค้านรายงาน EHIA อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และขอให้พิจารณาลดขนาดอ่างเก็บน้ำลง รวมทั้งขอให้ยุติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำทุกขนาดในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ตามที่กรมชลประทานได้ขอใช้พื้นที่อย่างมากมาย พร้อมทั้งยื่นรายชื่อประชาชนกว่า 10,000 รายชื่อ ที่ร่วมแสดงออกผ่านแคมเปญ change.org และจัดทำเอกสารเผยแพร่ เหตุผลในการคัดค้านอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด

เพื่อรักษาถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า และพิจารณาข้อเสนอการจัดการน้ำนอกพื้นที่อนุรักษ์ ลดความยาวสันเขื่อนลงให้พ้นจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เพื่อให้ยังคงมีแหล่งน้ำไว้ใช้ในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง แต่ไม่สร้างปัญหาใหม่ที่จะทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าถูกทำลาย และอาจทำให้สัตว์ป่าออกมารบกวนประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากจะทำให้สูญเสียป่าพื้นราบขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพรองรับการอพยพกลับมาของช้างป่า เพราะมีผลการวิจัยระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่าบริเวณพื้นที่น้ำท่วมดังกล่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่สำคัญของช้างป่าและสัตว์กีบชนิดอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ แต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 อยู่ในตำแหน่งคราวละ 2 ปี และจะครบวาระ ทำให้การแต่งตั้งคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติชุดใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น เกิดกระแสลือสะพัดจากวงใน ว่า เพื่อให้การดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ที่ค้างคามานานไม่เกิดปัญหา อาจมีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติชุดใหม่ โดยมีความเป็นไปได้ว่า เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อาจถูกบีบให้ออกจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ทั้งที่เป็นองค์กรด้านการอนุรักษ์ ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ทั้งป่าไม้และสัตว์ป่า

โดยนอกจากวาระโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ที่ค้างคามานานแล้ว ก็มีวาระสำคัญที่จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติอีกหลายประเด็น ที่สำคัญคือ การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มี.ค.66 อีกด้วย

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี ถูกระบุว่ามีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพแหล่งเก็บกักน้ำ และมีไว้เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) มีแนวคิดการก่อสร้างในปี 2535 ที่เกิดภัยแล้งและไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ ทางเกษตรกรจังหวัดจันทบุรีจึงได้มีการร้องขอให้กรมชลประทานพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับเก็บกักน้ำไว้ใช้ในเวลาที่เกิดความแห้งแล้งต่อเนื่องยาวนาน

แต่ในปัจจุบัน ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนดได้มีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแล้วหลายแห่ง น่าจะมีปริมาณที่มากเพียงพอต่อประชาชนทั้งลุ่มน้ำวังโตนดในจังหวัดจันทบุรีแล้ว และจากเอกสารในการคัดค้านของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ความเห็นว่า หากต้องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งของลุ่มน้ำคลองวังโตนด ทั้งในภาคการเกษตร การรักษาสมดุลระบบนิเวศท้ายน้ำ รวมถึงน้ำในการอุปโภคบริโภค ถ้ามีการบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสม อ่างเก็บน้ำในพื้นที่น่าจะมีปริมาณที่มากเพียงพอต่อประชาชนทั้งลุ่มน้ำวังโตนดในจังหวัดจันทบุรีแล้ว

นอกจากนี้หากมีการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดขึ้น แม้สันเขื่อนจะอยู่นอกพื้นที่อนุรักษ์ แต่จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเข้าไปในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น 7,503 ไร่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนซ่อง 7,097 ไร่ โดยเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงสุด 2 อันดับแรกของป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนพันธุกรรม การอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นอาศัย และเพิ่มพูนประชากรของสัตว์ป่าด้วย.

ขอบคุณภาพ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร