เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการฯ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่ถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ในการกำกับดูแลการจัดการเลือก สว.2567 ว่า ตามที่สังคมเรียกกระบวนการดังกล่าวว่าฮั้ว หรือสมยอม ซึ่งก่อนการเลือก สว. กกต.ได้ออกระเบียบให้แนะนำตัวเฉพาะทางเอกสาร ผู้สมัครไม่สามารถพูดคุยหรือขอคะแนนกันเองได้ และห้ามนำเอกสารเข้าสถานที่เลือก แต่ในท้ายที่สุดศาลปกครองมีคำพิพากษาให้ยกเลิกระเบียบดังกล่าว ดังนั้นผู้สมัครทุกคนจึงมีเสรีภาพตามคำพิพากษาศาลในการแนะนำตัวและนำเอกสารเข้าสถานที่เลือก
นายแสวง กล่าวต่อว่า เมื่อมีการถามว่า กกต.ไม่ระงับยับยั้งเหตุการณ์ในวันที่มีการเลือกระดับประเทศ ซึ่งศาลชี้เอาไว้ว่า สิ่งที่ไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย กกต.ไม่สามารถจะกระทำอันใดได้ โดยในวันเลือก กกต.ได้วางมาตรการป้องกันที่อาจจะเกิดเหตุไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มีการตั้งโต๊ะรับเรื่องคัดค้านกรณีที่มีการเห็นว่าอาจจะมีการกระทำที่ผิดปกติ ยืนยันการปฏิบัติหน้าที่สามารถตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดได้ ซึ่งในกรณีนี้มีคำร้อง กกต.มีคำวินิจฉัยแล้วและจะเผยแพร่คำวินิจฉัยในแอปพลิเคชัน Smart Vote
เมื่อถามถึงข้อสังเกตการทำงานของ กกต.ในการตรวจสอบสำนวนล่าช้า นายแสวง กล่าวว่า มีสำนวน 577 เรื่อง กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 1 ปี โดยพิจารณาเสร็จสิ้นไปแล้ว 319 เรื่อง ทั้งนี้สำนวนอยู่ระหว่างการพิจารณาใน 2 ชั้น เรียกว่า 3+2 โดย 3 คือสำนวนปกติ เกี่ยวกับคุณสมบัติทั้งสิ้น ส่วน 2 คือสำนวนพิเศษที่ตั้งรองเลขาธิการ กกต.กับตำรวจขึ้นมาดูแลเรื่องฮั้ว กับอีก 1 คณะที่ตั้งล่าสุด 2 คณะ โดยคณะแรกดูเรื่องสำนวนฮั้วทั้งหมด ส่วนคณะที่ 2 ดูเรื่องฮั้วที่รับมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ในชั้นสอบสวนเหลือแค่นี้
ขณะที่ในชั้นสำนักงาน มี 77 เรื่อง คือสรุปสำนวนและทำความเห็นโดยเลขาธิการ กกต. ซึ่งเลขาฯ กกต.ก็ไม่ได้ทำสำนวนเองทุกสำนวน เป็นหน้าที่ของรองเลขาธิการ กกต.ด้านการสืบสวนสอบสวน เป็นผู้ทำความเห็น ขณะที่สำนวนนอกจากนั้นส่งไปให้คณะอนุวินิจฉัย 105 สำนวน และมีสำนวนที่อยู่ระหว่างการเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต. 60 สำนวน เลขาฯ กกต.มีหน้าที่เร่งรัดหากต้องทำสำนวนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี
“ผู้สมัครสามารถนำโพยเข้าไปได้ สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลปกครอง และในทางปฏิบัติ เมื่อมีโพยเข้าไปในสถานที่เลือก ศาลวินิจฉัยแล้วว่าไม่มีความผิด แต่ว่าเหตุของการเกิดโพย อาจเป็นความผิดได้ เป็นอีกการกระทำหนึ่ง ซึ่งโพยอาจเป็นเรื่องของผู้มีสิทธิเลือก หรือบันทึกช่วยจำ เขาศึกษาจากเอกสารแนะนำตัว สว.3 เพราะการเลือกไม่ได้กากบาทเหมือนกับเลือกตั้ง สส. หมายเลขต้องเขียนเอง เลือกรอบแรกต้องเขียน 40 คน ซึ่งบางคนอาจจะจำไม่ได้ มาจากต่างจังหวัด ศาลคงเห็นตรงนี้ ถึงยกเลิกระเบียบ กกต.และให้สามารถนำเอกสารเข้าไปได้” นายแสวง กล่าว
เมื่อถามว่า กกต. ไม่ได้ระงับยับยั้ง นายแสวง กล่าวว่า อำนาจนั้น ไม่ใช่อำนาจของเลขาธิการ กกต. โดยเป็นอำนาจของ กกต. และศาลชี้ว่า การใช้อำนาจระงับยับยั้งต้องมีมูลฐานข้อเท็จจริง มีหลักฐานอันควรสงสัย หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า โพยนั้นเกิดจากการกระทำผิดหรือไม่ การกระทำผิดจากโพยเกิดจากข้างนอก ต้องมีหลักฐาน ในวันเลือกช่วงเช้าไม่มีใครรู้จักโพย และ กกต.ก็ดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง จากนั้นมีคนสงสัยว่า อาจมีโพย ทำให้การเลือกไม่สุจริต กกต. ก็ระงับยับยั้ง โดยให้เลขาธิการ กกต.ดำเนินการแก้ไขสถานการณ์โดยประกาศว่า ห้ามนำเอกสารเข้าไปในสถานที่เลือกในช่วงบ่ายหรือรอบเลือกไขว้
เมื่อถามว่ากลุ่ม สว.สำรองอ้างว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งได้รับข้อมูลในวันเลือก สว.ว่ามีการทุจริตเลือกและได้แจ้งเลขาธิการ กกต.แล้ว นายแสวง กล่าวว่า ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ให้ดูในคำวินิจฉัยของ กกต.ที่จะเผยแพร่ในวันนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงจะบอกว่า ใครให้การอย่างไรบ้าง.