นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยถึงแนวทางแก้หนี้ ด้วยการซื้อหนี้มาบริหารว่า  รัฐบาล อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงสถาบันการเงินด้วย  โดยกลุ่มที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขจะเป็นกลุ่มที่เป็นหนี้เสียมีมูลหนี้ต่ำกว่า 1 แสนบาท ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 35% ของหนี้เสียทั้งระบบ 1.22 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 4 แสนล้านบาท

“ลูกหนี้กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการคุณสู้ เราช่วย หรือเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถติดต่อได้ ธนาคารโทรไปก็ไม่รับสาย มีสัดส่วนราว 35% ของกลุ่มหนี้เสีย โดยทั้งหมดเป็นหนี้เสียที่ไม่มีหลักประกัน เช่น หนี้เสียที่เกิดจากการบริโภค สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งหนี้กลุ่มนี้ สถาบันการเงินตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญแล้ว100%“

นายพิชัย กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขจะจัดตั้งเป็น หน่วยงานบริหารหนี้ หรือเอเอ็มซีแห่งชาติหรือไม่นั้น เรื่องนี้ ยังอยู่ระหว่างการหารือระหว่างสถาบันการเงินเจ้าหนี้ คนที่จะมาจัดการ และภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อหาแนวทางผ่อนปรนให้ลูกหนี้กลับมาผ่อนชำระได้ รวมถึงเรื่องการล้างประวัติหนี้เสียก็จะต้องดูด้วย ซึ่งคาดว่า จะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ โดยมองว่าต้นทุนของหนี้จะไม่สูง เพราะหนี้เหล่านี้ตีเป็นหนี้ศูนย์ มีการตั้งสำรองครบแล้ว  ส่วนจะใช้งบประมาณแค่ไหน ก็คงต้องใช้บ้าง แต่ไม่มาก

“สัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีทั้งหมด 13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9 ล้านบัญชี จำนวน 5 ล้านราย  โดยเมื่อเข้าไปดูรายละเอียด พบว่า คนที่เป็นหนี้ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1 แสนบาท สูงถึง35% หากดูแลหนี้จำนวนน้อยเหล่านี้ได้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะลดลงทันที แต่การแก้ไขหนี้ทั้งประเทศ ยอมรับว่าจะไม่แล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน ต้องใช้เวลา”

ทั้งนี้ ผู้ที่จะร่วมแก้ไขปัญหานี้ คือ เจ้าของหนี้ คนที่จะมาจัดการ และรัฐบาลจะอุดหนุนอย่างไร ก็กำลังทำด้วยกัน แต่ขอดูข้อมูลก่อน ส่วนให้แบงก์ออมสินที่มีเอเอ็มซี เข้ามาช่วยหรือไม่นั้น ก็ขอดู เพราะออมสินเองก็มีกำลังจำกัด

สำหรับ มาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการแก้ไขหนี้ในเฟสที่สอง หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งเราคาดหวังว่า การเจรจาแก้ไขหนี้จะจบได้ 50% ซึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ส่วนที่ไม่มีหลักประกันนั้น รัฐบาลก็จะเข้าไปแก้ไขในเฟสต่อไปซึ่งมาตรการก็จะเข้มข้นกว่าเดิมส่วนกรณีที่ได้หารือร่วมกับสมาคมธนาคารพาณิชย์เมื่อวันที่ 18 มี.ค.นั้น ไม่ได้หารือเรื่องอสังหาฯโดยตรง แต่อสังหาฯเป็นหนึ่งในหัวข้อหารือ ซึ่งส่วนใหญ่จะหารือถึงการปล่อยสินเชื่อเก่าและการปล่อยสินเชื่อใหม่ในระบบว่า จะร่วมกันเดินหน้าได้อย่างไร เพื่อเติมเงินลงสู่ระบบมากยิ่งขึ้น