เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงกรณีการจัดซื้อเสากรวยล้มลุก ว่าอาจจะไม่โปร่งใส อย่างต่อเนื่อง โดยระบุว่า กทม.ซื้อกรวยอันละ 1,800 บาท พบข้อมูลเมื่อปี 66 สำนักการจราจรและขนส่ง – สจส. จัดซื้อกรวยล้มลุก จำนวน 750 อัน กำหนดราคากลางไปที่ 1,800 บาท เลขที่โครงการ 65117405255 ใช้วิธีการประมูลแบบอีบิดดิ้ง แต่ก็มีผู้เข้าร่วมแค่ 2 รายเหมือนเดิม เมื่อจัดซื้อแล้วยังต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มไปอีก 7% ทำให้ต้องจ่ายไปถึงอันละ 1,913.16 บาท ส่วนปี 65 อีก 2 โครงการ ปี 64 กทม.จัดซื้อ ฝั่งพระนครเหนือ-ใต้ อย่างละ 1,000 อัน ตกอันละ 1,920 บาทถ้วน

รวมถึงข้อมูลล่าสุดที่เผยแพร่ออกมา ทางเพจชมรมSTRONGต้านทุจริตประเทศไทย ระบุว่า เมื่อเร็วๆนี้ 6/03/68 สำนักการจราจรและขนส่ง – สจส. เซ็นสัญญาจัดงบ 71.5 ล้านบาท ซื้อวัสดุอุปกรณ์จราจรเพื่อใช้ในบริเวณจุดเสี่ยงของพื้นที่กรุงเทพมหานคร 13 รายการ หนึ่งในนั้นมีรายการจัดซื้อกรวยล้มลุก จำนวน 7,200 อัน กำหนดราคากลาง ที่ 1,800 บาท/อัน รวม 12,960,000 บาทด้วยวิธีประมูลแบบอีบิดดิ้ง เลขที่โครงการ 68019048505

ข้อพิรุธมีการกำหนดราคากลางที่สูงผิดปกติเมื่อเทียบกับการจัดซื้อกรวย ของกรมทางหลวง อยู่ที่อันละ 600-800 บาท หากคำนวณส่วนต่างเฉพาะรายการกรวย ไม่ต่ำกว่า 7 ล้าน เมื่อสืบข้อมูลลงไปพบว่า ในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้ มีเอกชนเข้าเสนอราคาเพียงแค่ 2 ราย แต่กลับมีการปกปิดข้อมูลการเสนอราคา ตั้งแต่ซื้อซอง ยื่นซอง และเสนอราคา ทั้งในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (eGp) และในระบบจัดซื้อฯของ กทม. ซึ่งตามคำสั่งกรมบัญชีกลาง ที่ กค 0433.4/ว536 ระบุให้เปิดเผยการเสนอราคา เพื่อความโปร่งใสโดยทิ้งท้ายไว้ว่า ทั้งนี้ยังมีอีก 12 รายการ ที่ทาง กทม.จัดซื้อ ต้องช่วยกันติดตามต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มว่า ในขณะที่ทางด้านของ กทม. โดยสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้ออกมาชี้แจงเพียง 1 ครั้ง โดยนายสิทธิพร สมคิดสรรพ์ ผอ.สจส. ชี้แจงว่า สจส. ได้จัดซื้อวัสดุอุปกรณ์จราจรเพื่อความปลอดภัยบริเวณจุดเสี่ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เลขที่โครงการ 68019048505 โดยดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

ในการกำหนดราคากลางของโครงการดังกล่าว สจส. ได้สืบราคาจากบริษัทและห้างต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 3 ราย เพื่อใช้เป็นข้อมูลจัดทำราคากลาง พร้อมทั้งเปรียบเทียบราคาวัสดุจากหน่วยงานราชการอื่น ๆ มากำหนดราคากลาง

ส่วนการจัดทำข้อกำหนด (TOR) ได้กำหนดคุณสมบัติของวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการใช้งาน โดยคำนึงถึงความทนทานต่อสภาพแวดล้อมจากการเหยียบทับและชนของรถ รวมถึงความสามารถในการสะท้อนแสง เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในเวลากลางคืน นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้ผู้เสนอราคาสามารถยื่นเสนอราคา เพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคาอย่างเป็นธรรมและทางราชการได้รับประโยชน์สูงสุด

สจส. ยืนยันได้ดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้างให้มีการแข่งขันราคาอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยตรวจสอบและจัดทำราคากลางอย่างเหมาะสม ส่วนในกรณีที่มีการยื่นเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติและสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ สจส. พร้อมให้ความร่วมมือในการตรวจสอบอย่างเต็มที่และจะดำเนินการตามข้อเสนอแนะของหน่วยงานตรวจสอบอย่างเคร่งครัดต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ในประเด็นเรื่องของราคาที่แตกต่างจากหน่วยงานอื่นในการจัดซื้อตามที่เพจชมรมSTRONGต้านทุจริตฯ กล่าวอ้าง และการเปิดเผยข้อมูลการเสนอราคานั้น ทางกทม.ยังไม่ชี้แจงแต่อย่างใด คงต้องติดตามกันอีกครั้งถึงข้อมูลนี้.