แม้ว่าคอนแทคเลนส์จะช่วยให้ผู้มีสายตาผิดปกติใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกสบายขึ้น แต่หากใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ก็อาจทำให้ดวงตาของคุณเสี่ยงที่จะเกิดภาวะผิดปกติได้ โดยเฉพาะภาวะกระจกตาขาดออกซิเจน (Corneal hypoxia)

“ภาวะกระจกตาขาดออกซิเจนเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย มักเกี่ยวข้องกับการใช้คอนแทคเลนส์ ภาวะนี้เกิดขึ้นได้เมื่อกระจกตาได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ” ดร.แมทธิว กอร์สกี ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพของโครงการสายด่วนบริการด้านสุขภาพดวงตานอร์ทเวลล์ กล่าว

กระจกตาซึ่งเป็นส่วนหน้าสุดของลูกตามีลักษณะโปร่งใส ดูคล้ายโดมขนาดเล็ก อวัยวะส่วนนี้ไม่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงตัวเอง ต้องอาศัยอากาศ น้ำตา และของเหลวในดวงตาเพื่อรับออกซิเจน

“บางครั้งคอนแทคเลนส์อาจลดปริมาณออกซิเจนกระจกตาสามารถดูดซับได้ ทำให้เกิดภาวะกระจกตาขาดออกซิเจน” กอร์สกีอธิบาย

ในระยะเริ่มแรก ภาวะกระจกตาขาดออกซิเจนไม่ได้รบกวนดวงตามากนัก แต่หากเป็นหนักขึ้นจนกลายเป็นปัญหา อาจทำให้มีอาการตาแดง คัน ระคายเคือง รู้สึกเหมือนมีสิ่งแปลกปลอมในดวงตา เจ็บตาและตาไวต่อแสง รวมถึงระดับการมองเห็นลดลง

กอร์สกีกล่าวว่า หากมีอาการเหล่านี้ ทางที่ดีที่สุดคือรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา สำหรับกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหนัก จะทำให้เกิดการอักเสบ กระจกตาติดเชื้อ มีรอยขีดข่วนหรือรอยแผลเป็น ทำให้การมองเห็นบกพร่องอย่างมาก

เคยมีรายงานระบุถึงผู้ป่วยโรคนี้รายหนึ่ง เธอมีอาการตามัวที่ดวงตาข้างหนึ่งซึ่งเธอสงสัยว่าจะเป็นเพราะใช้คอนแทคเลนส์ยี่ห้อที่เป็น “รุ่นเก่า” ทำให้เธอตัดสินใจเปลี่ยนยี่ห้อคอนแทคเลนส์หลังจากที่รักษาจนหาย

การรักษาภาวะกระจกตาขาดออกซิเจนโดยหลักๆ ก็คือ หยุดใช้คอนแทคเลนส์ และต้องหมั่นใช้ยาหยอดตาและน้ำตาเทียมเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา แต่ถ้ามีอาการร้ายแรงมาก ก็อาจจะต้องรับการผ่าตัด จึงจะหาย

กอร์สกีแนะนำว่าผู้ใช้คอนแทคเลนส์เป็นประจำสามารถหลีกเลี่ยงภาวะกระจกตาขาดออกซิเจนได้โดยเลือกใช้คอนแทคเลนส์ที่มีค่าซึมผ่านของออกซิเจน (Oxygen permeability) สูง และต้องรักษาอนามัยในการใช้คอนแทคเลนส์ตามแพทย์สั่ง

สำหรับข้อควรปฏิบัติเพื่อสุขอนามัยในการใช้คอนแทคเลนส์ ได้แก่

– ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ เช็ดให้แห้งด้วยผ้าสะอาดก่อนสัมผัสเลนส์

– อย่าเข้านอนโดยที่ยังสวมคอนแทคเลนส์อยู่

– ห้ามอาบน้ำ ว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมใดๆ ที่ทำให้น้ำเข้าตาขณะสวมคอนแทคเลนส์

– รักษาตลับใส่คอนแทคเลนส์ของให้สะอาดอยู่เสมอและควรเปลี่ยนทุกๆ สามเดือนหรือเร็วกว่านั้น เมื่อตลับชำรุดเสียหาย

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES