พล.อ.อ.มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย(กพท.) เปิดเผยว่า กพท. มีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน (Maintenance Repair and Overhaul) หรือ MRO ให้เกิดขึ้นในท่าอากาศยานของไทย โดยเฉพาะที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ(ทสภ.) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบิน(Aviation Hub)ของภูมิภาค ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่ง ทสภ. เปิดบริการมา 18 ปีแล้ว แต่กลับไม่มี MRO ที่จะให้บริการกับสายการบินต่างๆ โดยปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในการซ่อมบำรุงอากาศยานค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในเอเชียแปซิฟิก กพท. จึงเตรียมจัดทำแผนแม่บท(Master Plan) เพื่อขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว

พล.อ.อ.มนัท กล่าวต่อว่า คาดว่าจะใช้เวลาจัดทำแผนแม่บทการส่งเสริมอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยานไทย ประมาณ 1 ปี เบื้องต้นประกอบด้วย การส่งเสริมการซ่อมบำรุงขนาดเล็ก ขนาดกลาง และการยกเครื่อง โดยจะใช้พื้นที่ในเขต ทสภ. ด้านใต้ประมาณ 700 ไร่ มาใช้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดเล็ก ขนาดกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกสายการบินต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาตรวจเช็กเบื้องต้น อาทิ เครื่องบินมาถึงไทยเย็นๆ ค่ำๆ ตรวจเช็กเบื้องต้น และบินออกไปช่วงเช้า รวมถึงจะให้เป็นแหล่งฝึกอบรมทุกมิติเกี่ยวกับการบิน อาทิ ศูนย์ปฏิบัติการฝึกบินจำลองสำหรับวิศวกรรมการบิน ศูนย์ฝึกช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นการดึงให้สายการบินจากทั่วโลกมาใช้ ทสภ. เป็นฮับการบิน
พล.อ.อ.มนัท กล่าวอีกว่า ส่วนที่ท่าอากาศยานนานาชาติอู่ตะเภา จะจัดเป็นพื้นที่การซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ หรือซ่อมแบบยกเครื่อง ทั้งนี้อุตสาหกรรม MRO จะช่วยลดการสูญเสียรายได้ในการส่งอากาศยานไปซ่อมบำรุงที่ต่างประเทศ และยังดึงดูดผู้ประกอบการทั้งใน และต่างประเทศให้เข้ามาร่วมลงทุนด้วย จะทำให้ท่าอากาศยานของไทยเป็นท่าอากาศยานที่ครบวงจร นอกจากนี้ กพท. มีแผนส่งเสริมธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ให้เกิดผู้ประกอบการไทยรายใหม่ๆ จะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางอากาศสัญชาติไทยยังมีจำนวนน้อย

พล.อ.อ.มนัท กล่าวด้วยว่า การจะทำให้เกิดสายการบินขนส่งสินค้าทางอากาศสัญชาติไทยรายใหม่ๆ ได้ จะเริ่มด้วยการลดสัดส่วนถือหุ้นลง จากเดิมที่มีข้อกำหนดว่าต้องมีคนไทยถือหุ้นอย่างน้อย 51% เพื่อให้ผู้ประกอบการมีโอกาสในการรวบรวมทุน และค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนเงินทุนแบบขั้นบันได จนเติบโตเป็นสายการบินขนส่งสินค้าสัญชาติไทยอย่างสมบูรณ์ ซึ่งหากยังคงข้อกำหนดสัดส่วนแบบเดิม เชื่อว่าคงเกิดยาก เบื้องต้นเริ่มแรกอาจปรับเป็นสัดส่วนคนไทยถือหุ้น 20% และให้เวลา 5 ปี ต้องปรับเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในลักษณะซื้อหุ้นเพิ่มทุน จนในที่สุดต้องปรับเพิ่มสัดส่วนเป็น 100%
พล.อ.อ.มนัท อีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเรื่องดังกล่าว และพิจารณาข้อกฎหมายต่างๆ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี จะได้เห็นผลการดำเนินงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ เป็นธุรกิจที่ดำเนินการได้ทั้งขาเข้า และขาออก จึงต้องทำให้การขนส่งสินค้าทั่วโลกมามีจุดเปลี่ยน หรือขนถ่ายสินค้าที่ ทสภ. ถ้าทำได้ ทสภ. จะกลายเป็นฮับในการขนส่งสินค้าทางอากาศ อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศไทยมีสายการบินขนส่งสินค้าทางอากาศสัญชาติไทย อาทิ เค-ไมล์ แอร์ และพัทยา แอร์เวย์ เป็นต้น