เมื่อวันที่ 19 มี.ค. งานวิจัยล่าสุดจาก Madre Brava เรื่อง “อุตสาหกรรมปศุสัตว์กับ PM2.5: ตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการผลิตโปรตีนที่หลากหลาย” ที่จัดทำร่วมกับ Asia Research and Engagement พบว่า การเผาเพื่อการเกษตรอาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยมากกว่า 34,000 รายต่อปี และหากอุตสาหกรรมนี้เติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ จำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับการเผาตอซังข้าวโพดเพียงเลี้ยงสัตว์อย่างเดียวอาจสูงถึง 361,000 ราย ในช่วงระหว่างปี 2020-2050 แต่หากไทยเริ่มสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้มากกว่า 100,000 รายภายในปี 2050
วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการ Madre Brava ระบุว่า รายงานฉบับนี้เผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลกับปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ซึ่งมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของประชาชนไทย โดยแหล่งกำเนิดหนึ่งของฝุ่นละอองขนาดเล็กนี้มาจากกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่มีความต้องการสูงในตลาดทั้งในและต่างประเทศ
รายงานฉบับนี้เน้นการศึกษาถึงผลกระทบที่รุนแรงของการเกษตรปศุสัตว์ โดยเฉพาะการเผาตอซังข้าวโพดที่ปลูกเพื่อผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มระดับมลพิษทางอากาศในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งที่มีการเผาข้าวโพดจำนวนมากเพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการเพาะปลูกใหม่
ผลกระทบจากการเผาตอซังข้าวโพดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึงปีละ 12,000 ราย ระหว่าง 2020-2050 ซึ่งเกือบเทียบเท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจักรยานยนต์ในประเทศไทยในปี 2021 โดยเสนอให้ประเทศไทยเริ่มสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน โดยให้โปรตีนจากพืชทดแทนโปรตีนจากสัตว์ให้ได้ 50% ภายในปี 2050 ซึ่งหากทำได้ จะช่วยลดการผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลลง และลดความต้องการข้าวโพดในการผลิตอาหารสัตว์ ส่งผลให้สามารถลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากการเผาตอซังได้มากกว่า 100,000 ราย
ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า รายงานฉบับนี้พบว่า การเผาตอซังพืชในช่วงฤดูแล้ง (ธันวาคม-เมษายน) เป็นสาเหตุหนึ่งของฝุ่น PM2.5 เนื่องจากความชื้นต่ำทำให้ฝุ่นสะสมในอากาศ ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันและภูมิประเทศที่เป็นหุบเขาทำให้การไหลเวียนของอากาศไม่ดี ส่งผลให้ PM2.5 ไม่สามารถกระจายตัวได้ การบุกรุกพื้นที่ป่าและการขาดการจัดการที่เหมาะสมทำให้ไฟจากการเผาตอซังอาจลุกลามสู่พื้นที่ป่าได้ และยังมีผลกระทบจากการเผาตอซังข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านที่ทำให้ PM2.5 ลอยข้ามพรมแดนเข้าสู่ประเทศไทยด้วย
“แม้จะมีความพยายามในการจำกัดการเผาตอซังพืชเพื่อลดมลพิษ PM2.5 แต่ปัญหายังคงมีอยู่และไม่สามารถแก้ไขได้อย่างยั่งยืน รายงานนี้เสนอแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยการลดความต้องการอาหารสัตว์และเพิ่มการใช้โปรตีนจากพืช ซึ่งสามารถช่วยลดผู้เสียชีวิตจากมลพิษ PM2.5 ได้มากกว่า 100,000 รายภายในปี 2050 หากสามารถเพิ่มการผลิตโปรตีนจากพืชมาทดแทนโปรตีนจากสัตว์ 50% ทั้งการบริโภคในประเทศและส่งออก นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ 1.3 ล้านล้านบาท สร้างงาน 1.15 ล้านตำแหน่ง และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 35.5 ล้านเมตริกตันต่อปี” ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย กล่าว
ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย ยังเสนอแนวทางยั่งยืนเพิ่มโปรตีนจากพืช ลดฝุ่น PM2.5 และส่งเสริมสุขภาพ จากข้อสรุปในงานวิจัยฉบับนี้ ได้เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหามลพิษ PM2.5 และส่งเสริมความยั่งยืนทางอาหาร โดยแนะนำให้ภาครัฐส่งเสริมการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืนมากขึ้น เช่น การให้มาตรการจูงใจทางการเงินเพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชมีราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงการนำเมนูอาหารเน้นพืชมาใช้ในงานและการประชุมของภาครัฐ รวมถึงโรงเรียนและโรงพยาบาล เพื่อแบบอย่างให้ประชาชนหันมาบริโภคโปรตีนจากพืชมากขึ้น
“รายงานยังเสนอให้ภาคธุรกิจผู้ค้าปลีกและธุรกิจบริการอาหารกำหนดเป้าหมายเพิ่มยอดขายของโปรตีนจากพืช โดยลดราคาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ให้สามารถแข่งขันกับโปรตีนจากสัตว์ พร้อมทั้งจัดวางผลิตภัณฑ์โปรตีนจากพืชให้เด่นชัด และให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์ต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังแนะนำให้ผู้ผลิตเนื้อสัตว์และอาหารทะเลลงทุนในการวิจัยและพัฒนาโปรตีนทางเลือกที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงและราคาเข้าถึงได้ง่าย เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและลดการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ในระยะยาว” การสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนในประเทศไทยไม่เพียงแต่จะช่วยลดมลพิษ PM2.5 แต่ยังเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพิ่มงาน สร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวด้วย” วิชญะภัทร์ กล่าวทิ้งท้าย