เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ ที่ปรึกษาของรมว.การต่างประเทศ ในฐานะผู้แทนนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ นำคณะภาคเอกชนไทย เข้าร่วมงาน NVIDIA GTC 2025 ที่เมืองซานโฮเซ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของบริษัท NVIDIA ซึ่งเป็นงานประชุมด้านเทคโนโลยีระดับโลกที่สำคัญ และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้ขยายเครือข่ายธุรกิจ และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรต่างประเทศ เสริมสร้างความสามารถการแข่งขันด้านเทคโนโลยีขั้นสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศสตาร์ทอัพของไทย รวมถึงจะขยายผลให้กับสถานเอกอัครราชทูตไทยและสถานกงสุลไทยทั่วโลกกว่า 90 แห่ง เพื่อให้ทูตไทยและทีมไทยแลนด์ใช้นโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติด้าน AI เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น

นอกจากนี้ ที่ปรึกษาของรมว.การต่างประเทศ และคณะ ได้ร่วมรับฟังวิสัยทัศน์สำคัญของ NVIDIA CEO โดยนายเจนเซ่น หวง ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ NVIDIA ได้นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะทำให้ AI ฉลาดขึ้น เร็วขึ้น และเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งนี้ NVIDIA ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนของไทยในการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ในประเทศไทย โดยนำสถาปัตยกรรม AI ชั้นสูงของ NVIDIA มาใช้ เพื่อยกระดับ AI ไทย และร่วมมือกับมหาวิทยาลัย CMKL จัดตั้งสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถด้าน AI ของประเทศไทย และสนับสนุนการพัฒนา Sovereign AI หรือ อธิปไตยทางปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ

จากนั้น น.ส.ชยิกาได้ร่วมกล่าวเปิดงาน Thai Tech Connect – Business Networking Dinner โดยย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการผลักดันภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และ AI เพราะโลกกำลังก้าวไปข้างหน้า และมีความต้องการเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น ไทยจึงต้องก้าวกระโดดให้ทันโลก ด้วยการสร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ และการวางเป้าหมายการเชิญชวนการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมกับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ซึ่งรัฐบาลของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้วางนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ตั้งแต่นโยบาย Go Cloud First ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐใช้ระบบคลาวด์ และให้การบริการดิจิทัลของภาครัฐ รวมถึงสนับสนุนการใช้ระบบคลาวด์กลางของภาครัฐ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านดิจิทัลจากกลุ่มประเทศเป้าหมายดึงดูดการลงทุน ได้แก่ ดาต้า เซ็นเตอร์, การผลิตและออกแบบชิป, เซมิคอนดักเตอร์ โดยจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ AI ในประเทศ

น.ส.ชยิกา กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังจะสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลทั้งระบบ และส่งเสริมการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายจากต่างประเทศที่มีความต้องการแรงงานทักษะสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ (STEM) ไม่น้อยกว่า 80,000 คนในปี 2571 และแรงงานที่มีทักษะด้าน AI ไม่น้อยกว่า 50,000 คนในปี 2572 ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ประสบความสำเร็จในการดึงดูดบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่ให้เข้ามาลงทุน และจัดตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ได้จำนวนมาก เช่น AWS Google Microsoft ของสหรัฐ, Huawei, TSI, Tencent, TDSI International และ Tiktok ของจีน รวมถึงดาต้าเซ็นเตอร์ สัญชาติญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ เพราะไทยมีปัจจัยการแข่งขันที่ได้เปรียบหลายประการ เช่น ทำเลที่ตั้งศูนย์กลางของภูมิภาค ความเสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ต่ำ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีความพร้อม และนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐที่ครอบคลุม

นอกจากนี้ น.ส.ชยิกาได้ร่วมกับภาคเอกชนชั้นนำของไทยหารือกับสถาบันการศึกษาและผู้แทนภาคเอกชนไทยที่ประสบความสำเร็จในซิลิคอนวัลเลย์ เพื่อทำความรู้จัก และแลกเปลี่ยนความรู้ ทั้งบริษัท Trillion Sure, บริษัท Ocare Health Hub, บริษัท Crypto City Connext, บริษัท iBOTNOI, บริษัท ViaLink, บริษัท Perceptra, บริษัท Singha Ventures และบริษัท S&J International เป็นต้น.