เมื่อวันที่ 19 มี.ค.68 ที่โรงแรมรามา​การ์เด้นส์​ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการตรวจสอบ ทุจริตฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า ตัวเลขการร้องเรียนเรื่องสว.มีทั้งหมด 577 เรื่อง มีการพิจารณาแล้ว 228 เรื่อง เสร็จสิ้นแล้ว 82 เรื่อง โดยมี 9 เรื่อง ที่ส่งฟ้องศาลฎีกา ล่าสุดในการพิจารณาเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยพิจารณาเกี่ยวกับการกระทำความผิดเลือกสว. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว.ตามมาตรา 77 (1) โดยระบุถึงการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการเลือกสว.ไม่ว่าจะเป็น การให้ เสนอว่าจะให้ หรือการจัดเลี้ยง มีมติให้ส่งศาลฎีกาพิจารณาอีก 1 เรื่อง ทำให้ตอนนี้เหลือคำร้องที่อยู่ระหว่างการพิจารณา 267 คำร้อง โดยอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของคณะอนุวินิจฉัย 107 เรื่อง ซึ่งคณะกรรมการพยายามทำตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้

เมื่อถามว่ากรณีผู้แทนกรมสอบสวนพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้ามาร่วมทำงานด้วยจะทำให้การพิจารณาเร็วขึ้นหรือไม่ นายอิทธิพร กล่าวว่า ปกติเรารับเรื่องคำร้องสว.มาโดยตลอด และคำร้องที่เกี่ยวพันกับมาตรา 77 (1) หรือเรื่องฮั้ว ซึ่งมี 220 เรื่อง ทางกกต.ดำเนินการพิจารณาตรวจสอบเอง ทำเสร็จแล้ว 115 เรื่อง ส่วนกรณีดีเอสไอ ซึ่งกกต.มีมติเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา ให้รับเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของดีเอสไอ ทางนั้นแจ้งมาว่ามีเรื่องการกระทำฝ่าฝืน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. ที่ประชุมกกต.จึงมีมติให้รับมาดำเนินการสอบสวน โดยถือว่าเป็นความปรากฏ พร้อมตั้งคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ขึ้นมาอีกคณะหนึ่ง โดยเชิญผู้แทนดีเอสไอเข้ามาร่วมอีก 3 คน เชื่อว่าการทำงานร่วมกัน จะสามารถพิจารณาได้โดยไม่ชักช้า

เมื่อถามว่าตัวแทนจากดีเอสไอ 3 คน เข้ามาร่วมทำงาน จะเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่าง 2 หน่วยงาน ใช่หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ใช่ เพราะกฎหมายให้อำนาจตามมาตรา 42 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. เราสามารถขอให้เจ้าหน้าที่ ของหน่วยงานอื่น มาเป็นหนึ่งในกรรมการ ของคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนได้ โดยกรอบการทำงานทุกเรื่องรวมถึงเรื่องฮั้ว จะมีกรอบการปฏิบัติหน้าที่ว่าควรจะเสร็จเมื่อไหร่ ซึ่งเราเคยมีประกาศออกมาเมื่อปี 2566 เรื่องกำหนดกรอบระยะเวลาในการดำเนินงานกระบวนการยุติธรรม ออกตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมที่กำหนดว่า ในการพิจารณา ของเจ้าหน้าที่กกต. จะเริ่มจากคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน ยาวที่สุดไม่เกิน 90 วัน หลังจากนั้นจะนำเรื่องเข้ามาที่สำนักงานกกต. ส่วนกลาง นำโดยเลขาธิการกกต. ซึ่งจะมีเวลาอีก 60 วัน และไปที่อนุ กรรมการวินิจฉัย ตรงนี้ก็จะมีเวลาอีก 90 วัน โดยอาจจะมีการสอบสวนเพิ่มให้โอกาสพยานเข้ามาให้ถ้อยคำ รวมแล้วระยะเวลาทั้งหมดไม่ควรจะเกิน 1 ปี ที่จะต้องเสนอให้ที่ประชุมกกต.พิจารณา

“กกต.มีหน้าที่ชัดเจนว่า คำร้องใดที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ที่เกี่ยวข้องกับกกต. เป็นงานของเรา ส่วนการกระทำที่เกิดขึ้น หากเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายอื่น ซึ่งไม่ใช่กฎหมายเลือกตั้งก็เป็นหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งจากข่าวประชาสัมพันธ์ของดีเอสไอระบุว่า หากในการทำงานของดีเอสไอ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการฝ่าฝืนพ.ร.ป. ว่าด้วยกันได้มาซึ่งสว. เขาก็จะแจ้งมาที่กกต. เพื่อพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป เพราะฉะนั้นการดำเนินงานจะไม่มีความซับซ้อนกัน จะมีแต่การส่งเสริมกัน” ประธานกกต.กล่าว

เมื่อถามว่าคำร้องของกกต. และดีเอสไอ มีส่วนไหนที่เป็นคำร้องเดียวกัน หรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า คำร้องดีเอสไอ มีอยู่ 3 เรื่อง แต่มาร้องที่เราที่รับมาแล้วเฉพาะมาตรา 71 (1)  มี 200 กว่าเรื่อง เพราะฉะนั้นในส่วนของดีเอสไอ ได้รับคำร้องและตรวจสอบแล้ว เห็นว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย การเลือกสว. เขาจึงแจ้งให้กกต.ทราบ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของกกต.ดูเรื่องการฝ่าฝืนพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาสว. จึงรับมาสอบสวน.