นางฐิติพร หลาวประเสริฐ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า “Thai Fish Project” หรือ “โครงการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมสัตว์น้ำท้องถิ่นของไทยเพื่อการเพาะเลี้ยงและตอบสนองต่อตลาดโลก” ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2562 มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำท้องถิ่นของไทย 2 ชนิด ได้แก่ ปลากะพงขาว และกุ้งแชบ๊วย ด้วยการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคสัตว์น้ำ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทยให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) และสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น (JST) ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SATREPS) ซึ่งประเทศไทยโดยกรมประมงเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับ Tokyo University of Marine Science and Technology (TUMSAT) ประเทศญี่ปุ่น และนักวิจัยจากสถาบันวิจัยชั้นนำของทั้ง 2 ประเทศ มุ่งเน้นการศึกษาทางวิชาการที่ตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 4 ด้านสำคัญ ประกอบด้วย 

1. การสร้างพันธุกรรมที่ดี : พัฒนาเทคโนโลยีการผสมพันธุ์ โดยศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมและใช้เทคนิค ทางโมเลกุลเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ที่มีคุณลักษณะทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่า ทนทานต่อโรค และมีการเจริญเติบโตดีขึ้น  2. เพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันโรค : ลดการระบาดของโรคในสัตว์น้ำ ด้วยการพัฒนาวิธีการตรวจและวิธีการป้องกัน ที่สามารถใช้งานได้จริงในภาคสนาม 3. พัฒนาวิธีการเลี้ยงและเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ : คิดค้นสูตรอาหารที่เสริมคุณค่าทางโภชนาการในสัตว์น้ำ และพัฒนาเทคโนโลยีการเลี้ยงที่มีความทันสมัย สามารถเพิ่มศักยภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับปลากะพงขาวและกุ้งแชบ๊วย 4. อนุรักษ์ทรัพยากรทางพันธุกรรม : ศึกษาวิธีการเก็บรักษาสารพันธุกรรมที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อสร้างธนาคารพันธุกรรม รักษาความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ของสัตว์น้ำท้องถิ่น และป้องกันผลกระทบจากการเพาะเลี้ยงที่อาจทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลง

โดยมีการแบ่งงานวิจัยออกเป็น 9 กลุ่มย่อย และมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นภายใต้โครงการ อาทิ โปรแกรมปรับปรุงพันธุ์โปรแกรมแรกของโลก ที่ศึกษาความทนทานของปลากะพงขาวต่อโรค ISKNV และ ความทนทานต่อการลดลงของออกซิเจน โดยสามารถพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลจำนวน 42 ตำแหน่ง สำหรับช่วยในการคัดเลือกปลากะพงขาวที่มีลักษณะตรงตามความต้องการของตลาดได้ค้นพบวิธีการเก็บรักษาเซลล์สืบพันธุ์ในสัตว์จำพวกครัสเตเชียนครั้งแรกของโลก โดยทำการศึกษาวิจัยในกุ้ง 3 ชนิด ได้แก่ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาดำ และกุ้งก้ามกราม ด้วยเทคนิคการแช่เยือกแข็งแบบรวดเร็ว โดยใช้สาร DMSO ที่ความเข้มข้น ร้อยละ 10 ซึ่งให้ผลดีในกุ้งแชบ๊วย และกุ้งก้ามกราม ในขณะที่กุ้งกุลาดำใช้ Glycerol ที่ความเข้มข้นร้อยละ 10 ให้ประสิทธิภาพการเก็บรักษาดีที่สุด ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบในการสร้างธนาคารพันธุกรรมกุ้ง และขยายผลต่อยอดไปยังสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาสูตรอาหารเพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการในปลากะพงขาวที่สามารถผลิต “ปลากะพงขาว High DHA” โดยเสริมสาหร่ายขนาดเล็ก Schizochytrium sp. ลงในสูตรอาหาร ซึ่งสามารถเพิ่ม DHA ในปลากะพงขาวได้สูงขึ้น อีกทั้ง ยังได้ขยายผลต่อยอดงานวิจัยโดยพัฒนาสารเคลือบอาหารที่มี DHA สูงและนำไปทดลองเลี้ยงในระดับฟาร์ม เป็นโมเดลต้นแบบการเสริมคุณค่าทางโภชนาการในสัตว์น้ำ ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

“จากความร่วมมือของทั้ง 2 ประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีและการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมท้องถิ่น ภายใต้โครงการ Thai Fish Project นี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของไทย ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้ทุกมิติ ครอบคลุมทั้งด้านคุณภาพ ปริมาณการผลิต ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคระบาดและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เกิดองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ที่จะกลายเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป”