นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ผู้รับจ้างรายใหม่ที่จะเข้ามาดำเนินงานโครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสาร (เทอร์มินอล) หลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง ให้แล้วเสร็จแล้ว หลังจาก ทย. ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างบริษัท พอร์ท แอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม) ผู้รับจ้างโครงการฯ ก่อนหน้านี้ เนื่องจากผู้รับจ้างไม่เข้ามาทำงานให้แล้วเสร็จ ขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนไม่สามารถส่งมอบงานให้กับ ทย. ได้ตามกำหนด อย่างไรก็ตามคาดว่า ทย. จะสามารถลงนามสัญญากับผู้รับจ้างรายใหม่ได้ภายในเดือน มี.ค. 68 และจะเริ่มงานทันที เพื่อให้งานแล้วเสร็จ และเปิดให้บริการได้ประมาณปลายเดือน เม.ย. 68 ตามนโยบายนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม

นายดนัย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันภาพรวมงานก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง มีความคืบหน้าประมาณ 98.34% เหลืองานอีกประมาณ 1.66% โดยงานโครงสร้างเสร็จทั้งหมดแล้ว ซึ่งงานที่ผู้รับจ้างรายใหม่ต้องเข้ามาดำเนินการ ส่วนใหญ่เป็นงานระบบ เก็บรายละเอียดของงาน และซ่อมแซมงานบางส่วนที่ได้รับความเสียหาย อาทิ ติดตั้งระบบลิฟต์ สะพานเทียบเครื่องบิน และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า พร้อมทั้งจะต้องดำเนินการทดสอบระบบต่างๆ ให้มีความพร้อมสมบูรณ์ ก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ทั้งนี้จะนำงบประมาณที่เหลือท้ายสัญญาประมาณ 34 ล้านบาท และเงินที่ริบจากหลักประกันตามสัญญาประมาณ 53 ล้านบาท มาใช้ดำเนินงานในส่วนที่เหลือต่อไป

นายดนัย กล่าวอีกว่า จากการประเมินรายการปริมาณ และราคาของสิ่งก่อสร้างคงเหลือ พบว่า ต้องใช้งบประมาณในการจัดจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ประมาณ 34 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณที่เหลืออยู่ก็เพียงพอ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานในส่วนที่เหลือ อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ท่าอากาศยานตรัง วงเงิน 1,070 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ ทย. มีเป้าหมายเปิดให้บริการอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ตั้งแต่ช่วงเดือน ต.ค. 67 โดย ทย. จะพยายามเร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินการให้แล้วเสร็จ และเปิดบริการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ในปลายเดือน เม.ย. 68

นายดนัย กล่าวด้วยว่า สำหรับอาคารผู้โดยสารหลังใหม่นี้ มีพื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) เมื่อเปิดให้บริการจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของท่าอากาศยานตรังได้มากขึ้น จากเดิม 600 คนต่อชั่วโมง (ชม.) หรือ 1.7 ล้านคนต่อปี เป็น 1,200 คนต่อ ชม. หรือ 3.4 ล้านคนต่อปี และสามารถจอดรถยนต์ได้ 700 คัน ทั้งนี้ปัจจุบันท่าอากาศยานตรัง มี 3 สายการบินให้บริการ ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย, นกแอร์ และไทยไลอ้อนแอร์ มีผู้โดยสารมาใช้บริการประมาณ 1,500-1,600 คนต่อวัน วันละประมาณ 10 เที่ยวบิน (ไป-กลับ) ยังไม่กลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เมื่อปี 62 ซึ่งมีผู้โดยสารกว่า 2,000 คนต่อวัน และมี 16 เที่ยวบินต่อวัน (ไป-กลับ)

นายดนัย กล่าวด้วยว่า นอกจากการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่แล้ว ท่าอากาศยานตรัง ยังอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่ง (รันเวย์) จาก 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน และองค์ประกอบอื่นๆ วงเงินประมาณ 1,775 ล้านบาท ขณะนี้มีความคืบหน้าประมาณ 37% คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี 2571 ซึ่งจะช่วยทำให้ท่าอากาศยานตรังสามารถรองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ อาทิ โบอิ้ง B747, โบอิ้ง B777 และแอร์บัส A330 ขนาด 300-400 ที่นั่ง สามารถบินตรงไปยังประเทศในแถบยุโรป และแถบเอเชียได้.