ในที่สุด “นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็บรรจุวาระญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจวันที่ 24 มี.ค. หลังพรรคฝ่ายค้านปรับแก้ไขตัดชื่อ “นายทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากญัตติโดยใช้คำว่า บุคคลในครอบครัวแทน ส่วนกรอบเวลาในการอภิปรายของแต่ละฝ่าย เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาล และ พรรคฝ่ายค้าน ไปหารือหาข้อสรุปร่วมกันอีกครั้ง ขณะที่ “นายชูศักดิ์ ศิรินิล” รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรอบเวลาในการอภิปราย นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ระบุว่า มีการนัดคุยภายในวิป 3 ฝ่ายอีกครั้งวันที่ 19 มี.ค. ว่า เราก็ถอยให้หลายอย่าง ถอยไปจนไกลแล้ว ให้เวลาฝ่ายค้าน 23 ชั่วโมง รัฐบาลขอแค่ 7 ชั่วโมง ถือว่าน้อยมาก ต้องขอมตินอกที่ประชุมพรรค พท. ในวันที่ 18 มีนาคมอีกครั้ง พยายามเต็มที่ไม่ใช่จะไปจำกัดอะไรฝ่ายค้าน หลายคนถามว่าทำไมไม่ให้เวลาหลายๆ วัน มองว่ามันมากเกินไป

“นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” สส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเปิดเผยการแก้ไขคำในญัตติการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 151 ซึ่งเปลี่ยนถ้อยคำจาก นายทักษิณ ชินวัตร เป็น บุคคลในครอบครัว ว่า สาระสำคัญคือความต้องการให้เกิดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ต้องการให้เตะถ่วงตามที่หลายคนกังวล ซึ่งการแก้ไขถ้อยคำถือเป็นการใช้โอกาสในการเปลี่ยนเพื่อให้ อภิปรายได้กว้างขวาง หนักหน่วงมากขึ้น เพราะถ้าบรรจุในญัตติคำว่านายทักษิณ ชินวัตร แค่อย่างอื่น แต่ไปอภิปราย นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดี๋ยวจะโดนประท้วงอีก

นายวิโรจน์ ยังบอกว่า การแก้เป็นคำว่า บุคคลในครอบครัว ก็จะนำพาองค์ประกอบจำเลยมาได้หมดทั้งครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นญาติโกโหติกา บรรดาคนใกล้ชิดที่มีความเกี่ยวข้องในการกระทำ แทรกแซงการบริหารแผ่นดินของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เพราะก่อนหน้านี้หลายคนก็มาปรึกษาว่าไม่ได้แตะคนชื่อนี้ คนชื่อนั้น ตอนนี้คือแตะทุกชื่อแล้ว และยังบอกอีกว่าการอภิปรายก็จะเข้มข้นขึ้น ต่อจากนี้จะรอดูว่าถ้าแก้เป็นถ้อยคำแบบนี้แล้ว จะมีการประท้วง หรือไม่

นายวิโรจน์ กล่าวอีกว่า การตัดสินใจของนายกฯ ที่ระบุว่าใช้เวลา 30 ชั่วโมงไม่มีปัญหา แต่บริวารในพรรคออกมาต่อรองเหลือ 23 ชั่วโมง จึงไม่เข้าใจว่าคนในพรรค ไม่เคารพหัวหน้าพรรค ตัวเองหรือ หรือแม้แต่วันนี้ไม่ศรัทธาหัวหน้าพรรคแล้ว ศรัาธาแต่ สทร. ตนมองว่านี่คือปัญหาความเสื่อมถอยในภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนก็ไม่รู้ว่า ผู้ที่ต่อรองเวลา แบบนี้ จะเป็นการสร้างผลงานเพื่อนำไปต่อรองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่ แต่เป็นการทำที่ไร้สติปัญญาและทำให้ภาวะผู้นำของ นายกฯ ดูต้อยต่ำลง และเรื่องเวลาอภิปราย อยากให้วิปรัฐบาลฟังสิ่งที่นายกฯ พูด

ด้าน “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ กล่าวถึงกรณี พรรค ปชน. ยอมตัดชื่อ นายทักษิณ ออกจากญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นคำว่า “บุคคลในครอบครัว” ว่า “ก็ได้หมด ทำขั้นตอนถูกก็โอเคแล้ว” ส่วนเรื่องกรอบเวลาทางฝ่ายค้านมองว่านายกฯ ไฟเขียว 30 ชั่วโมงนั้น เป็นสิ่งที่ต้องแบ่งกัน แต่ทาง คณะกรรมการประสานงาน (วิป 3 ฝ่าย) ไปพูดคุยกัน น่าจะมีการคุยกันในวันที่ 19 มี.ค.นี้ ตกลงในเรื่องของจำนวนชั่วโมง เมื่อถามต่อว่า ถ้าให้ 30 ชั่วโมงของฝ่ายค้านเพียงอย่างเดียวมากไปหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า “ความจริงอภิปรายคนเดียว มันก็อาจจะ ไม่ค่อยเมคเซ้นส์เท่าไร แต่ว่าลองไปตกลงกันแล้วกัน ในกระบวนการสภา ก็ให้วิปรัฐบาลไปพูดคุยกัน ตัวดิฉันไม่ได้ไปตกลงด้วย”

เมื่อถามอีกว่าที่นายกฯ นัดพรรคร่วมรัฐบาล รับประทานอาหารค่ำในวันที่ 21 มี.ค. จะมีการกำชับอะไรเป็นพิเศษ นายกฯ กล่าวว่า มีอยู่แล้ว จะช่วยเหลือกันอย่างไร และแบ่งเบากันอย่างไรบ้าง ต้องมีเรื่องเกี่ยวกับกระทรวงอื่นๆ ทุกกระทรวงต้องช่วยกัน ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านโหมโรงถึงดีลแลกประเทศ ถือเป็นข้อกล่าวหาที่รุนแรงหรือไม่ นายกฯ ย้อนถามว่า “ดีลแลกประเทศเหรอคะ ไม่ได้แปลกใจ ก็ต้องทำอย่างนั้นเพื่อให้ได้รับความสนใจ เป็นเรื่องธรรมดาเรื่องปกติ ฝ่ายรัฐบาลก็มีเช่นกัน พรรคต่างๆ ก็มี ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้อะไร” เมื่อถามอีกว่าที่มีการปล่อยของออกมาถือว่าตรงกับที่นายกฯ ทำการบ้านไว้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราเตรียมข้อมูลมากกว่า การบ้านที่ทำของทุกๆ กระทรวง ทุกนโยบายที่ปล่อยไปว่ามีคำถามอะไรหรือไม่ที่ฝ่ายค้านสนใจ เราก็เตรียมข้อมูลคำตอบเท่านั้นแหละค่ะ ไม่ได้มีอะไรที่มันมากมายไปกว่านั้น ก็ หวังว่าสองวันจะจบ

คำชี้แจงของนายกฯ น่าจะเป็นการส่งสัญญาณชัดว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้าน คงจะได้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้น คือ 24-25 มี.ค. ซึ่งต้องรอดูว่า ในการหารือของวิป 3 ฝ่าย ด้านพรรคฝ่ายค้านนำโดย ปชน.จะยอมหรือไม่ เพราะต้องการ 30 ชั่วโมง เพื่อนำเสนอข้อมูลอย่างเต็มที่

ส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้าน พลังประชารัฐ (พปชร.) “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค พปชร. กล่าวถึงการเตรียมพร้อมการ อภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า “คอยฟังสิ ให้คอยฟัง”

ด้าน “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” เลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวถึงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.แพทองธาร  ชินวัตร  นายกฯ มี 2 ประเด็นสำคัญที่อุบไว้ก่อน เป็นประเด็นใหม่ เป็น เรื่องของนายกฯ  ซึ่งประชาชนจะไม่ผิดหวัง กับบทบาทของหัวหน้าพรรค ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สำหรับตนได้ฟังอภิปรายแล้ว “ต้องไม่ไว้วางใจ” โดยมีจำนวนผู้อภิปรายรวม พล.อ.ประวิตร รวม 6 คน เมื่อถามถึง หลังการอภิปรายจะยื่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเอาผิดได้เลยหรือไม่ นายไพบูลย์  กล่าวว่า หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเสร็จแล้ว มีหลายเรื่องที่จะถูกยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. หรืออาจจะถึง ศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.)

งานนี้ดูเหมือนฝ่ายค้าน จะเตรียมตัวอย่างเต็มที่ คงหวังจะดิสเครดิตฝ่ายบริหาร อีกทั้งจะยื่นเรื่องให้องค์กรอิสระตรวจสอบ ไม่รู้ว่า การโหมโรงครั้งนี้ จะหวังเชิญชวนให้ประชาชนเข้ามาติดตาม หรือของที่จะโชว์จริงๆ

นอกจากนี้ยังมี ปมร้อนเกิดขึ้น ในระหว่าง การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 มี.ค. โดยการหารือถึงการส่งออกทุเรียนของไทยที่จะต้องปฏิบัติตาม มาตรการของประเทศจีน เกี่ยวกับการตรวจจับสารย้อมสี หรือ Basic yellow2 โดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ กล่าวแสดงความเห็นว่า ประเทศไทยควรมีเครื่องมือในการตรวจจับปริมาณสารย้อมสี เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว จากนั้น “นายพิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์  กล่าวว่า เมื่ออายัดทุเรียนมาได้แล้ว ทำไมไม่ทำลาย ทำให้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรฯ โต้แย้งทันทีว่า ตามขั้นตอน เมื่ออายัดของได้แล้ว ไม่สามารถทำลายได้ในทันที

ขณะที่รัฐมนตรีหลายคนในที่ประชุม มีสีหน้าแปลกใจ และตั้งข้อสังเกตต่อการโต้เถียงกันระหว่าง นายพิชัย กับ นางนฤมล ว่า กระทรวงนี้ทำงานไม่กินเส้นกันมาก่อนหรือไม่ ในเรื่องการส่งระบายสินค้าการเกษตรที่มีปัญหาและมีการวิพากษ์วิจารณ์ในขณะนี้ จนในที่สุด “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร” นายกฯ ต้องหย่าศึกด้วยการสั่งให้นายพิชัยกับนางนฤมลไปหารือนอกรอบให้ได้ข้อยุติแล้วนำมารายงานในที่ประชุม ครม.อีกครั้ง

ก่อนหน้านี้ “นายพิชัย” ก็ถูกวิจารณ์เรื่องแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ซึ่งต้องทำงานประสานกับกระทรวงเกษตรฯ หรือ ความขัดแย้งครั้งนี้ จะส่งผลถึงการทำงานร่วมกันในอนาคตหรือไม่ อีกทั้งพรรคกล้าธรรม (กธ.) มีบทบาทสำคัญในรัฐบาล ปัญหาความขัดแย้งครั้งนี้จะลุกลามบานปลาย ขนาดไหน

“ทีมข่าวการเมือง”