เราคงเคยสังเกตเห็นกันว่าผ้านขนหนูหรือผ้าเช็ดตัวส่วนใหญ่ จะทอลวดลายเป็นแถบในแนวขวางใกล้กับบริเวณริมผ้า แต่รู้หรือไม่ว่าลวดลายเหล่านี้ ไม่ได้มีไว้เพื่อตกแต่งหรือเป็นดีไซน์เพื่อเพิ่มความสวยงามเท่านั้น
เนท แมคเกรดี วิศวกรด้านซอฟต์แวร์นำเรื่องที่คนสงสัยกันมานานนี้ไปตั้งคำถามบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ โดยเปิดประเด็นว่า “จุดประสงค์ของลวดลายถักทอที่ริมผ้าเช็ดตัวคืออะไร”
“ผมเชื่อว่ามันมีอยู่เพียงเพื่อทำให้ผ้าหดลงและทำให้ไม่สามารถพับผ้าให้เรียบร้อยได้ จนต้องซื้อผ้าเช็ดตัวผืนใหม่มาแทน” เขากล่าวเสริม
คำถามของเขาได้รับความสนใจจากชาวเน็ตอย่างมาก จึงมีผู้เข้ามาแสดงความเห็นและความสงสัยในทำนองเดียวกัน บางคนก็คาดเดาไปต่างๆ นานาว่าลายแถบเหล่านี้มีไว้เพื่ออะไรกันแน่
“ลายทางช่วยให้ผ้าแห้งเร็วขึ้น” ชาวเน็ตคนหนึ่งกล่าว
“มันเป็นเพียงลวดลายตกแต่ง” ชาวเน็ตอีกรายหนึ่งแสดงความคิดเห็น ขณะที่อีกคนกล่าวว่า “จุดประสงค์ของมันก็เพื่อทำให้ฉันหงุดหงิด และเพื่อให้ฉันรู้สึกขอบคุณผ้าขนหนูอีกด้านที่ช่วยเช็ดมือให้แห้งสนิท”
“มันทำให้ผ้าขนหนูไม่นุ่มฟูและเช็ดสบายทั่วทั้งผืน ผู้ผลิตผ้าขนหนูคิดว่าเราสมควรได้รับสิ่งดีๆ แต่ไม่ใช่สิ่งดีๆ ทั้งหมด” ชาวเน็ตคนหนึ่งสันนิษฐานแบบตลกๆ ส่วนคนอื่นๆ ล้อเล่นว่ามันมีไว้เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนข้ามเขต
“คุณจะได้ไม่เช็ดหน้าของคุณตรงจุดที่ต่ำกว่าแถบลาย และเช็ดก้นตรงส่วนที่อยู่เหนือแถบ” ชาวเน็ตคนนี้แสดงความเห็น ส่วนอีกคนก็เขียนในทำนองเดียวกันว่า “มันต้องแยกส่วนบนออกจากส่วนล่างเพื่อที่คุณจะได้ไม่เอาไปเช็ดตาตรงจุดเดียวกับที่คุณเช็ดก้น”
แต่อันที่จริงแล้ว แถบลายเหล่านี้มีชื่อเรียกรวมๆ กันว่า “ขอบด็อบบี” (Dobby boarder)
เมื่อต้นสัปดาห์นี้ บริษัททาวเวลฮับ ซึ่งเป็นบริษัทค้าส่งผ้าเช็ดตัวของสหรัฐอเมริกา เฉลยเหตุผลของการออกแบบลวดลายที่ปลายผ้าเช็ดตัวทั้งสองด้านว่า “ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อการตกแต่งเท่านั้น”
“มันมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความทนทาน ประสิทธิภาพ และความสวยงามโดยรวม” เว็บไซต์อธิบายถึงเหตุผลที่ผ้าเช็ดตัวต้องมีแถบลายไว้ทั้งสองด้าน “แถบผ้าทอที่เรียกว่าขอบด็อบบี ช่วยป้องกันไม่ให้ริมผ้าลุ่ย เพิ่มการดูดซับน้ำ และทำให้ผ้าขนหนูเป็นของใช้ที่มีประโยชน์อย่างจริงจัง”
ตามหลักการแล้ว ขอบดอบบีจะทำหน้าที่เสริมความแข็งแรงของผ้าเช็ดตัว ป้องกันเนื้อผ้าลุ่ยจากการซักทำความสะอาดหลายๆ ครั้ง ช่วยเพิ่มการดูดซับน้ำและช่วยให้ผ้าขนหนูแห้งเร็ว
นอกจากนี้ มันยังมีประโยชน์ในการใช้หลายด้าน เช่น เพิ่มการยึดเกาะของเนื้อผ้าและช่วยรักษาโครงสร้างของผ้าขนหนูให้อยู่ทรงได้เป็นเวลานานๆ
ที่มา : nypost.com
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES