เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่ประธานการประชุม พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือนางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายชาตรี อรรจนานันท์ อดีตอธิบดีกรมการกงสุล และอดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ แทนนายนครินทร์ เมฆไตรรัฐ ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยได้เปิดให้สมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ สว.อภิปรายสนับสนุนทั้งนางสิริพรรณ และนายชาตรี
นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. อภิปรายว่า คนที่นางสิริพรรณ จะเข้าไปแทนคือนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ก็ให้ความเห็นกับมาตรา 112 ไว้โดยมีการเผยแพร่ในสื่อช่วงปี 2554 เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่นางสิริพรรณ มีมุมมองต่อมาตรานี้รวมถึงนายอุดม รัฐอมฤต ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เคยเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ให้กับนักศึกษาเกี่ยวกับมาตรานี้ หากหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา เพราะหากมีปัญหา ทั้ง 2 ท่านก็คงจะเป็นประเด็นไปก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นจึงคิดว่าเรื่องนี้ไม่ควรนำมาเป็นประเด็น
ด้าน น.ต.วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว. อภิปรายว่า ทั้ง 2 คนผ่านการคัดเลือกมาด้วยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์อย่างแท้จริง แทบจะไม่มีข้อสงสัยใดๆ ทุกคนที่ได้อ่านประวัติล้วนแล้วแต่ชื่นชมยินดี โดยเฉพาะนางสิริพรรณ จึงอยากให้สมาชิกได้พิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อจะลงคะแนนให้ท่านได้เป็นตุลาการศาลและเราจะได้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นสุภาพสตรีที่มีความรู้ความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าใครในประเทศไทย ส่วนนายชาตรี ก็เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องรัฐศาสตร์ทางการทูตอย่างดี ถ้าเรามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ล่วงรู้ไปถึงกลไกของศาลโลก ย่อมที่จะได้รับอานิสงส์จากท่านเป็นอย่างยิ่ง ส่วนตัวตนขอสนับสนุนทั้ง 2 คนให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ขณะที่ นางอังคณา นีละไพจิตร สว. อภิปรายว่า ผู้ถูกเสนอชื่อบางคนเป็นคนทำงานเป็นที่รู้จัก มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ คนเหล่านี้มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ หลายคนถูกฟ้องร้อง ถูกดำเนินคดีซึ่งเป็นธรรมดาสำหรับคนที่ทำงานเพื่อสาธารณะและเพื่อประโยชน์ของสังคม ในฐานะที่ตนเคยเป็นอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตนก็เคยถูกเลือก และมีเพื่อนอีกหลายคนที่ได้รับการเสนอชื่อแต่ไม่ถูกเลือก จึงเห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุด วุฒิสภาจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเหตุผลที่สามารถอธิบายต่อสังคมได้ แต่ในการพิจารณาองค์กรอิสระทุกครั้ง ผู้ได้รับการเสนอชื่อจะไม่มีโอกาสได้เข้ามาชี้แจงด้วยตัวเอง วุฒิสมาชิกเองก็มีเฉพาะบางท่านที่มีโอกาสได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการตรวจสอบประวัติ และตนก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยมีโอกาสได้รับเลือกให้เป็นกรรมการฯ และไม่เคยมีโอกาสที่จะซักถามผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ตนคิดว่าคนที่ทำงานเพื่อสังคมเราจะรู้ว่าใครที่เป็นคนทำงานและปกป้องผลประโยชน์ประชาชนอย่างแท้จริง ตนคิดว่าการเลือกองค์กรอิสระทุกครั้งมีความสำคัญ หลายครั้งคนที่ตนเห็นว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมและสมควรที่จะได้รับเลือกเข้ามากลับไม่ได้รับเลือกและไม่มีเหตุผลที่จะอธิบายว่าเพราะอะไร
“ดิฉันจึงอยากเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีสัดส่วนทางเพศ และอยากเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนเพราะเรื่องแบบนี้เป็นเรื่องสำคัญและต่อไปในการพิจารณาคัดเลือกองค์กรอิสระ ดิฉันอยากเห็นคนที่ทำงานโดยที่ไม่กลัวถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่กลัวการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแต่เอาตัวเองเป็นหลักในการที่จะปกป้องคนอื่น จึงอยากให้สมาชิกเลือกด้วยความรอบคอบและเป็นอิสระ” นางอังคณา กล่าว
ส่วน น.ส.รัชนีกร ทองทิพย์ สว. อภิปรายว่า เท่าที่ตนรู้จักนางสิริพรรณมา เป็นคนดีอย่างยิ่งเป็นผู้ที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ มีความเป็นกลางในการพิจารณาสิ่งต่างๆ โดยใช้หลักวิชาการเข้ามาประกอบ ปัจจุบันนางสิริพรรณ เป็นศาสตราจารย์ ดังนั้นการเป็นศาสตราจารย์ในสาขาวิชารัฐศาสตร์ไม่ใช่เรื่องง่าย คนที่เป็นศาสตราจารย์ได้ต้องมีผลงานทางวิชาการเชิงประจักษ์ ไม่ใช่เชิงประจักษ์ธรรมดาแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างมากในเรื่องของรัฐธรรมนูญและสาขาต่างๆ ของวิชารัฐศาสตร์ การเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย นางสิริพรรณดำรงในฐานะแม่พิมพ์อย่างดียิ่ง เป็นแบบอย่างของบุคคลที่ได้เห็น ประพฤติตนอยู่ในกรอบแห่งจริยธรรมครบถ้วนสมบูรณ์ ตนไม่เคยได้ยินข่าวเกี่ยวกับนางสิริพรรณในทางที่ไม่ดีเลย วันนี้นางสิริพรรณ ได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือทางออกของประเทศไทย
“ทำงานเพื่อสาธารณะมักมีประเด็นทุกครั้งที่ทำอะไรมักจะมีสองด้านเสมอ คนไม่พูดคือไม่ผิดใช่หรือไม่ คนทำคนไม่ทำอะไรคือไม่ผิดใช่หรือไม่ ประเทศไทยเราต้องการให้คนไม่ทำอะไรเข้ามาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ สิ่งที่อาจารย์สิริพรรณทำ เคยถูกตั้งคำถามแต่อาจารย์ก็ชี้แจงได้ว่าเป็นเหตุผลทางวิชาการ คนไม่ทำอะไร ไม่เคยด่างพร้อยไม่เคยถูกตั้งคำถาม ไม่เคยถูกร้องเรียนเลย ควรมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เราอยากได้คนที่เพิกเฉยต่อสาธารณะ เพิกเฉยต่อประเทศชาติมาทำงานในตำแหน่งที่สูงของประเทศ ขององค์กรอิสระหรือ เชื่อว่าเมื่ออาจารย์สิริพรรณ เข้ามาเป็นตุลาการฯ จะทำงานด้วยความเป็นกลางไม่เห็นแก่พวกพ้อง” น.ส.รัชนีกร กล่าว
ส่วน นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. อภิปรายว่า ทั้ง 2 ท่านที่ได้รับการเสนอชื่อในการดำรงตำแหน่งได้ผ่านกระบวนการอันชอบธรรม โดยคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง บางท่านอาจจะได้เสียงเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ 8:0 บางท่านอาจจะผ่านการพิจารณาถึง 3 รอบ ซึ่งตนไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวทั้ง 2 คน เพราะอยู่คนละแวดวงกัน แต่ตนให้เกียรติคณะกรรมการสรรหาทั้ง 8 คน มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ เมื่อคัดเลือกมาแล้ว ส่วนตัวก็จะเลือกทั้ง 2 คน แม้อาจจะมีบางคนต้องต่อสู้คดีบ้าง ปัจจัยสิ่งสำคัญคือคำพิพากษา เมื่อพิสูจน์แล้วว่าบริสุทธิ์ ถือว่าผ่าน
“คนเราจะไม่มีคดีเลยก็คือเราต้องไม่ออกจากบ้าน ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร เพราะบางคนอาจจะถูกหมั่นไส้เฉยๆ ก็ได้หรือบางเรื่องอาจจะไปพัวพัน โดยอาจจะไปร่วมเฉยๆ ก็ได้ เมื่อพิสูจน์แล้วว่าบริสุทธิ์ก็ถือว่าผ่าน ในส่วนคุณธรรมจริยธรรมผมคิดว่า เราควรดูว่าเขาทำงานได้หรือไม่ มีปัญหาไม่ดี ไม่งามหรือไม่ ผมไม่อยากให้เป็นบรรทัดฐานว่าได้รู้จักกับใครหรือไม่ เขาเคยไปท่องเที่ยวเมืองรองหรือเปล่า ซึ่งเมืองรอง มีหลายเมือง เคยไปหรือไม่ หรือไม่ไปก็ยังไม่ผ่าน ต้องไปสันถวไมตรีก่อนถึงผ่าน หากเกณฑ์เป็นเช่นนี้ก็น่าเศร้าใจ หลายคนดำรงตำแหน่งจนถึงทุกวันนี้เพราะความมั่นใจในสิ่งที่ตนเองมั่นใจในคุณธรรมที่มี จึงไม่ไปสันถวไมตรีกับผู้ยิ่งใหญ่ที่ไหน และถ้าเหตุผลนี้จะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตกไป ผมคิดว่าน่าเสียดาย” นพ.เปรมศักดิ์ กล่าว
จากนั้นเป็นการประชุมลับ เพื่อให้สมาชิกอภิปรายแสดงความคิดเห็นในส่วนที่ไม่สามารถเปิดเผยได้
ต่อมาในเวลา 13.22 น. ภายหลังประชุมลับเสร็จสิ้น นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้แจ้งการลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบบุคคลทั้ง 2 ให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเป็นการออกเสียงลงคะแนนแบบลับเป็นรายคน จากนั้นประธานได้แจ้งผลการลงมติปรากฏว่า ที่ประชุมไม่เห็นชอบให้นางสิริพรรณ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนเสียง 136 ต่อ 43 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เช่นเดียวกับนายชาตรี ที่ประชุมไม่เห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลฯ ด้วยคะแนนเสียง 115 ต่อ 47 งดออกเสียง 22 ไม่ลงคะแนน 3 ทำให้บุคคลทั้ง 2 ได้รับความเห็นชอบน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดที่ลงคะแนนได้.