เมื่อวันที่ 18 มี.ค.68 นายรัศม์ ชาลีจันทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศ โพสต์ว่าวันนี้ขอมาอธิบายหลักการพื้นฐานสำคัญในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศประการหนึ่ง
หลักการนี้เรียกว่า pacta sunt servanda ในภาษาลาติน หรือ agreement must be kept ในภาษาอังกฤษ ที่บอกว่ารัฐจะต้องปฏิบัติตามความตกลง ซึ่งถือเป็นกฎหมาย customary law ที่เก่าแก่ที่สุดอันดับหนึ่งของโลก ที่ legally binding มีผลผูกพันตามกฎหมาย และเป็นพื้นฐานของการดำเนินการความสัมพันธ์ทางการทูตของทั่วโลกมาโดยตลอด โดยหลักการนี้ปรากฏอยู่ในมาตราที่ 26 ของอนุสัญญา กรุงเวียนนา ว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ซึ่งคือกฎหมายระหว่างประเทศที่ทั่วโลกยึดถือ
พูดง่ายๆ ว่าถ้าประเทศต่างๆ ไม่ทำตามหรือไม่เชื่อในความตกลงที่ให้ไว้แก่กัน การดำเนินความสัมพันธ์ก็เป็นไปไม่ได้ เพราะนี่คือพื้นฐานของความสัมพันธ์ระหว่างกัน
การที่จีนมีหนังสือทางการทูตรับรองสวัสดิภาพการกลับคืนสู่สังคมปกติของชาวจีนอุยกูร์ให้กับไทยนั้น จึงมีผลผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจะต้องยึดถือและปฏิบัติตาม
ดังนั้นในกรณีนี้ เมื่อมีหนังสือรับรองสวัสดิภาพและความปลอดภัยอย่างเป็นทางการจากประเทศต้นทางแล้ว ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่าไทยละเมิดหลักการด้านสิทธิมนุษยชนด้าน non-refoulement หรือการไม่ส่งคนกลับสู่ภยันตราย จึงจะเอามาใช้กับไทยไม่ได้ เพราะมีการค้ำประกันเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน โดยประเทศอธิปไตย ซึ่งย่อมทำให้ข้อกล่าวหาในประเด็นนี้หมดไปโดยปริยายนั่นเอง
ส่วนที่เหลือก็ต้องเป็นเรื่องของการพิสูจน์การปฏิบัติตามคำรับรองนั้น โดยจะมีการติดตามผลเป็นระยะต่อไป ตราบใดที่ไม่มีหลักฐานอะไรแน่ชัดต่อชาวอุยกูร์ทั้ง 40 คนนั้น การด่วนสรุปล่วงหน้า ย่อมเป็นเพียงความเชื่อส่วนตัวที่ไม่ได้อยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดๆ
ด้วยเหตุนี้การดำเนินการของรัฐบาลไทยจึงเป็นไปตามกฎหมาย ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่บนหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ทุกประการ
หากไม่เข้าใจหรือไม่เคารพหลักการ pacta sunt servanda/ agreement must be kept ย่อมคือการไม่เข้าใจในเรื่องการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (หรือปฏิเสธที่จะเข้าใจเพื่อผลประโยชน์อื่นใด) นั่นเอง
ท้ายนี้ ผมอยากบอกว่าส่วนใครที่ไม่เชื่อคำมั่นของทางการจีน ก็สามารถไปบอกเขาได้โดยตรงเลยครับว่าไม่เชื่อในคำพูดของเขา ไปบอกตัวแทนของเขาที่สถานทูตจีนประจำประเทศไทยได้เลย ไม่ต้องมาบอกผมก็ได้