เมื่อเวลา 09.35 น. วันที่ 18 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวถึงแนวคิดของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซื้อหนี้ประชาชนจากธนาคารโดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชน ว่า หลักการแก้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่จำนวนมาก ปกติมี 2-3 วิธี อยู่แล้ว คือการปรับโครงสร้างหนี้ คือ การปรับโครงสร้างหนี้ โดยอาจจะใช้การเจรจายืดหนี้ ลดดอกเบี้ย เพื่อทำให้อยู่ได้ และเมื่อทำไปแล้วรู้สึกไม่คุ้ม เงื่อนไขธนาคารมาก แต่สินเชื่อใหม่ก็ต้องปล่อยออกไปเรื่อยๆ ก็จะต้องพยายามทำให้ดีที่สุด นอกจากนี้อีกวิธีคิดหนึ่ง คือใช้วิธีคล้ายกับในปี 2540 (ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง) ก็อาจต้องแยกบัญชี จำแนกประเภทธนาคาร หรือใช้มาตรการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (AMC) โดยการดำเนินการต้องร่วมกับธนาคารผู้เป็นเจ้าของหนี้ รวมถึงเอกชนบางรายที่อยากจะเข้ามาบริหาร และต้องพิจารณาด้วยว่าภาครัฐจะเข้าไปช่วยได้อย่างไร พร้อมย้ำว่านี่เป็นเพียงแค่วิธีคิด และอาจจะต้องใช้เวลาเคลียร์กันอีก แต่อาจจะดำเนินกันอยู่นอกธนาคาร
ทั้งนี้ นายพิชัย ยืนยันว่า ช่วงนี้ตนได้คิดมาหมดเรียบร้อยแล้ว ว่ามีกี่วิธี หรือจะเริ่มดำเนินการอย่างไรก่อนหลัง
เมื่อถามว่าแนวคิดนี้เป็นไปได้หรือไม่ในการดำเนินการ นายพิชัย กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องขอดูข้อมูล และความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งหมดก่อน และในวันนี้ตนจะพบกับสมาคมธนาคาร คงจะต้องนำเรื่องนี้มาหารือกันด้วย
เมื่อถามย้ำว่ามาตรการดังกล่าวจะไม่ใช้เงินของรัฐบาลแม้แต่บาทเดียวใช่หรือไม่ นายพิชัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบเงื่อนไข ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้
เมื่อถามว่ามาตรการดังกล่าวจะใช้กับลูกหนี้ที่มีหนี้เสีย (NPL) ใช่หรือไม่ นายพิชัย ยอมรับว่า ครอบคลุมไปถึงผู้ที่เป็นหนี้ดีด้วย รวมถึงหนี้บ้านและหนี้รถ ซึ่งของเดิมมีอยู่ประมาณพันล้านบาทนิดๆ