“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ประกาศรายชื่อผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ เพื่อคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ รฟม. (คนที่ 7) ผ่านทางเว็บไซต์ รฟม. 4 รายดังนี้ หมายเลข 1 นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง, หมายเลข 2 นายกาญผจญ อุดมธรรมภักดี, หมายเลข 3 นายกิตติกร ตันเปาว์ และหมายเลข 4 นายวิทยา พันธุ์มงคล คณะกรรมการสรรหาผู้ว่าการ รฟม. ได้ทำหนังสือแจ้งทั้ง 4 ราย กำหนดวัน เวลา และสถานที่ เพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์ฯ ในวันที่ 25 เม.ย. 2568 ที่ รฟม. หากไม่เข้ารับการสัมภาษณ์ และแสดงวิสัยทัศน์ตามวันเวลาที่กำหนด จะถือว่าสละสิทธิ

ในการสัมภาษณ์ฯ คณะกรรมการสรรหาฯ กำหนดให้แต่ละคน นำเสนอวิสัยทัศน์ภายในเวลาประมาณ 15 นาที และรับการสัมภาษณ์ประมาณ 30 นาที และให้คะแนนตามเกณฑ์ที่กำหนด จะทำให้สามารถทราบผลเบื้องต้นเป็นการภายในว่าใครจะเป็นผู้ชนะได้คะแนนมากที่สุดภายในวันเดียวกัน เพื่อมาทำหน้าที่แทนนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 20 มี.ค .2567 โดยมีนายวิทยา พันธุ์มงคล รองผู้ว่าการ รฟม. ทำหน้าที่รักษาการแทน
คณะกรรมการสรรหาฯ วางเงื่อนเวลาในการสรุปผลการสรรหาฯ อย่างเป็นทางการได้ภายในเดือน เม.ย. 2568 เพื่อนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณาประมาณเดือน พ.ค. 2568 หากที่ประชุมบอร์ดเห็นชอบ จะเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป คาดว่า ครม. จะอนุมัติประมาณเดือน มิ.ย. 2568 และเข้ารับตำแหน่ง
สำหรับ รฟม. เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงคมนาคม มีบทบาทหน้าที่ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดอื่น ตลอดจนจัดทำโครงการ และแผนงานเกี่ยวกับกิจการรถไฟฟ้า ปรับปรุง และพัฒนาให้ทันสมัย เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนในการใช้บริการ หากได้ผู้ว่าการ รฟม. คนใหม่โดยเร็ว จะทำให้งานต่างๆ ของ รฟม. ที่กำลังเร่งก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย สีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี สายสีส้ม และสายสีม่วงใต้ การผลักดันรถไฟฟ้าสายใหม่ รวมถึงนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาท ได้รับการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วขึ้น

ในส่วนของผู้เข้ารับการสัมภาษณ์ฯ ทั้ง 4 คน ล้วนมีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์บริหารงานรถไฟฟ้า โดยนายสุเทพ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) หรือผู้ให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (รถไฟฟ้าสายสีแดง) ขณะที่นายกาจผจญ ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และก่อนมาเข้ารับตำแหน่งนี้เคยเป็นรองผู้ว่าการ รฟม. มาก่อน ส่วนนายกิตติกร และนายวิทยา ดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าการ รฟม.
นอกจากความรู้ความสามารถและการพิจารณาจากคะแนนแล้ว โดยปกติผู้ที่ได้รับการสรรหาและเติบโตสู่ตำแหน่งใหญ่ จะมีคอนเนกชั่น หรือสายสัมพันธ์ในมิติต่างๆ โดยเฉพาะในทางการเมืองและกลุ่มทุนรายใหญ่ของประเทศ สำหรับผู้ว่าการ รฟม. จะเป็นกลุ่มทุนหลักด้านรถไฟฟ้าและบริษัทรับเหมางานก่อสร้าง ซึ่งในส่วนของกลุ่มทุนรถไฟฟ้าในปัจจุบันมีเพียง 2 ค่ายใหญ่เท่านั้น ดังนั้นผู้ที่ชนะสรรหา จึงต้องเป็นผู้ที่สามารถบาลานซ์ (สร้างสมดูล) และได้รับความพึงพอใจทั้งจากฝ่ายการเมืองและกลุ่มทุน 2 ค่าย