เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 17 มี.ค. ที่ ห้องแถลงข่าวกระทรวงยุติธรรม ขั้น 2 ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พร้อมด้วย พ.ต.อ.สัญญา อุบลวิรัตนา ผกก.สน.ประชาชื่น ร่วมกันแถลงผลการประชุมคณะอนุกรรมการกลั่นกรองข้อเท็จจริงกรณีการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ครั้งที่ 3/2568 ระเบียบวาระที่ 5 เรื่องเพื่อพิจารณา ข.ช.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้เสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัว ข.ช.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือผู้กำกับโจ้ ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ควบคุมกลั่นแกล้งและการใช้ความรุนแรง และกรณีผู้ถูกควบคุมตัวถึงแก่ความตายตามมาตรา 28

โดย นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และในฐานะโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เปิดเผยว่า วันนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมพิจารณาเรื่องอดีต ผกก.โจ้ เสียชีวิตระหว่างการถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำฯ ซึ่งที่ประชุมได้แบ่งเป็น 2 ประเด็น ได้แก่ 1.ประเด็นการเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวภายในเรือนจำกลางคลองเปรม 2.ประเด็นร้องเรียนว่าถูกเจ้าหน้าที่ผู้คุมเรือนจำกลางคลองเปรม กลั่นแกล้งใช้ความรุนแรงระหว่างที่ถูกควบคุมตัว โดยมติที่ประชุมมี ดังนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่ากรณีการเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวของอดีต ผกก.โจ้ มีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่ ซึ่งผลการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ เรียนว่า เนื่องจากผลการผ่าชันสูตรพลิกศพยังไม่ถึงที่สุด แม้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม จะได้แถลงผลอย่างไม่เป็นทางการ ให้น้ำหนักไปที่การฆ่าตัวตาย แต่ก็ยังรอรายงานการผ่าชันสูตรพลิกศพอย่างเป็นทางการ และก็ต้องรอรายงานการผ่าชันสูตรพลิกศพจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ อีกด้วย รวมทั้งผลการตรวจวัตถุพยานและสถานที่เกิดเหตุจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบมากที่สุด คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติให้ชะลอการพิจารณา และหากผลการตรวจดังกล่าวข้างต้นเป็นที่สิ้นสุดแล้ว จะได้ประชุมพิจารณาอย่างเร่งด่วนต่อไป

นายธีรยุทธ เผยอีกว่า ส่วนกรณีมีการร้องเรียนว่าผู้คุมเรือนจำกลางคลองเปรม มีการใช้ความรุนแรงและกลั่นแกล้งต่อ อดีต ผกก.โจ้ มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ หรือไม่นั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้คณะทำงานลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยข้อเท็จจริงจากบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งและใช้ความรุนแรงจำนวน 10 ปาก และรับเรื่องร้องเรียน รวมทั้งตรวจสอบข้อเท็จจริงจากญาติของผู้เสียชีวิต ได้แก่ มารดาและน้องสาว ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่า ควรมีการสืบสวนสอบสวนให้ครบถ้วนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อให้การตรวจสอบการกระทำดังกล่าวเป็นไปด้วยความรอบคอบ โปร่งใส ยุติธรรมกับทุกฝ่าย คณะอนุกรรมการฯ จึงได้มีมติให้ทำการสอบสวนตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ โดยมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดย สน.ประชาชื่น ดำเนินการสอบสวน โดยมี พนักงานอัยการเข้ากำกับการสอบสวน ตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

นายธีรยุทธ เผยด้วยว่า ตามที่ได้มีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง สอบปากคำ รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นแล้วนั้น แต่ด้วยความที่ต้องมีความรอบคอบและต้องหาพยานหลักฐานจากอีกหลายฝ่าย จึงต้องให้ความเป็นธรรม มอบหมายให้ทางสน.ประชาชื่น เป็นผู้ดำเนินการต่อไป โดยมีอัยการเข้ามากำกับการสอบสวน ดังนั้น ในการตรวจสอบว่าเข้าข่ายตามความผิดกฎหมายอุ้มหายหรือไม่ ก็ต้องดูว่ามันเป็นการกระทำทรมาน หรือกระทำโหดร้าย ทารุณย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ อย่างไร ซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต้องมีความชัดเจนก่อน วันนี้จึงยังไม่สามารถที่จะชี้ชัดได้ว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ และเป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 5 หรือมาตรา 6 จนเป็นเหตุให้อดีตผู้กำกับโจ้ได้รับบาดเจ็บอย่างไรบ้าง ขอให้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบข้อเท็จจริงก่อน

นายธีรยุทธ ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนในส่วนของการเสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว สถิติตั้งแต่ปี 2566 จนถึงปัจจุบัน มีประมาณหลักร้อยราย โดยเป็นตัวเลขที่ได้รวบรวมจากหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศที่มีอำนาจในการควบคุมตัว มีทั้งกรมราชทัณฑ์ และสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เป็นต้น ซึ่งจำนวนหลักร้อยรายนี้ต้องได้รับการกลั่นกรองว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามกฏหมายอุ้มหายหรือไม่ อย่างไร

นายธีรยุทธ แจงว่า สำหรับความแตกต่างระหว่างพฤติการณ์ความผิดตามมาตรา 5 และมาตรา 6 ของกฎหมายอุ้มหายนั้น มีเกณฑ์อยู่ว่า หากเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 5 ต้องมีเจตนาพิเศษ ทำให้เกิดความเสียหาย หรือเป็นการกระทำที่รุนแรง และเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำ มีเจตนาพิเศษหวังผลให้ได้มาซึ่งข้อมูลข้อเท็จจริง หรือเรื่องของการลงโทษต่าง ๆ ขณะที่พฤติกรรมตามมาตรา 6 จะเบาลงกว่า เพราะเจ้าหน้าที่รัฐอาจไม่ได้มีเจตนาพิเศษ อาจเป็นการทำร้ายร่างกาย หรือเป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือทำให้บุคคลรู้สึกอับอาย เป็นต้น

“ในครั้งต่อไปถ้าได้ผลผ่าชันสูตรพลิกศพจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผลจากโรงบาลจุฬาลงกรณ์ รวมทั้งผลการตรวจวัตถุพยานที่เกิดเหตุต่างๆมาแล้ว เราก็จะมีการประชุมโดยด่วนต่อไป เพราะสังคมอยากรู้การเสียชีวิตที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการกระทำของผู้กระทำเองหรือจากสาเหตุใด” นายธีรยุทธ ระบุ

นายธีรยุทธ ระบุว่า สำหรับขั้นตอนทางคดี หากมีการดำเนินการไปแล้ว และอัยการรับสำนวนคดีไปมีการสั่งฟ้อง อัยการก็ต้องมีการสั่งฟ้องไปยังศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบในพื้นที่ที่รับผิดชอบ เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ ไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินหรือแจ้งข้อกล่าวใคร เรามีหน้าที่แค่กลั่นกรองเรื่องว่าพฤติการณ์นั้นเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอุ้มหายหรือไม่ ติดตามเรื่อง และส่งเรื่องต่อให้หน่วยงานที่มีหน้าที่สอบสวน.