จากกรณี น.ส.พรรชน์ญมน อายุ 38 ปี ชาว อ.กาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี เข้าเรียนต่อสื่อ และขอความช่วยเหลือไปยังสภาทนายความแห่งประเทศไทย โดยอ้างว่า ถูกทนายความที่ว่าจ้างให้ทำคดีมรดก มีการเรียกเงินแล้วละทิ้งคดีไม่ทำงานให้ จนกระทั่งศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นเหตุ ให้มารดาของตนช็อกหมดสติและต่อมาได้ถึงแก่ความตาย นั้น

วันที่ 17 มี.ค. นายสมบูรณ์ ทองพัฒน์ ทนายความ ผู้รับว่าความในคดีที่นางจันทนา ร้องต่อศาล จังหวัดเวียงสระ เป็นผู้จัดการมรดก พร้อมด้วยทนายความสำนักงานศรีวิชัยทนายความและการบัญชี ได้เปิดแถลงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นที่ถูกกล่าวหา พร้อมระบุจะดำเนินคดีกับบุคคล และสื่อมวลชนที่ให้ร้าย

โดยนายสมบูรณ์ ได้ชี้แจงว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้นไม่เป็นความจริง เป็นการให้ข่าวและคำสัมภาษณ์ที่บิดเบือนข้อเท็จจริง ตนได้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับการแต่งตั้งทุกขั้นตอนมิได้ละทิ้งงานแต่อย่างใด และได้กล่าวขออภัยไปยังผู้ประกอบวิชาชีพทนายความในจังหวัดสุราษฎร์ฯ ที่ทำให้ถูกสังคมตั้งข้อสังเกตในแง่ลบ เพราะตนไม่ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงในทันทีที่ตกเป็นข่าว เนื่องจากติดว่าความอยู่ที่ศาลอาญากรุงเทพฯ

ประมาณเดือนเมษายน ปี 59 นางจันทนา และ น.ส.จูน (ลูกสาว) ได้มาแจ้งความประสงค์ให้ตนยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของนายเอนกสิน พี่น้องร่วมบิดา-มารดาเดียวกัน ซึ่งตนก็ได้ดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเวียงสระ คดีแพ่งหมายเลขคดีดำที่ 164/2559 ต่อมาเมื่อศาลนัดไต่สวน เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 ก็พบว่า ศาลจังหวัดเวียงสระได้มีคำสั่งให้บุคคลอื่นเป็นผู้จัดการมรดก ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 ตนจึงได้แจ้งให้นางจันทนา ทราบว่าเป็นการร้องซ้อน และต้องถอนคำร้องไปจากศาลเพื่อไปดำเนินการยื่นคำร้องถอดถอนผู้จัดการมรดกต่อไป ทนายสมบูรณ์ กล่าว

นายสมบูรณ์ กล่าวต่อว่า ระหว่างนั้นตนได้ดำเนินการตามขั้นตอนของการคัดสำเนาในคดีที่อดีตภรรยาของเจ้ามรดกยื่นคำร้องต่อศาลขอเป็นผู้จัดการมรดก รวมถึงรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อยื่นคัดค้านและถอดถอน ก่อนจะยื่นฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 ซึ่งศาลนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 28 กันยายน 2563 และได้ดำเนินการส่งหมายถึงพยานด้วยตนเอง แต่ในวันที่ศาลนัดไต่สวน พยานเอกสารบางรายการ ยังไม่ได้ส่งมายังศาล จึงต้องเลื่อนการไต่สวนออกไปเป็นวันที่ 3 ธันวาคม 2563 แต่เมื่อถึงวันไต่สวนก็ยังปรากฏว่าเอกสารยังไม่เข้าสู่สำนวนจึงต้องเลื่อนการไต่สวนออกไปอีกครั้งเป็นวันที่ 25 มกราคม 2564 และขอให้ศาลออกคำสั่งเรียกเอกสารเพิ่มเติม ไปยังโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่ง 

แต่แล้วเมื่อถึงวันไต่สวนโรงพยาบาลดังกล่าวก็ไม่ได้ส่งเอกสารตามคำสั่งศาล จึงหารือกับผู้ร้องว่าขอให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อไปดำเนินการยื่นคำร้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดสุราษฎร์ธานี และในวันนั้นนางจันทนา ได้มาศาลพร้อมกับทนายความและได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในวันนั้นด้วยตนเอง ดังนั้นข้อกล่าวหาที่ว่านางจันทนาไม่เคยไปศาลเลย และไม่ทราบความคืบหน้าและกระบวนการพิจารณาคดีจึงเป็นความเท็จ และไม่ได้เป็นไปตามข้อความที่ น.ส.จูน กล่าวหา

“ดังนั้นการที่ น.ส.จูน ได้มีการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว และให้สัมภาษณ์สื่อรวมทั้งไปออกรายการให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ โดยอ้างว่านางจันทนาผู้เป็นแม่ ไม่เคยไปศาลเลย และไม่ทราบความคืบหน้าและกระบวนการพิจารณาคดี จึงเป็นความเท็จรวมทั้งสื่อบางคนเอาข้อมูลที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงไปนำเสนอ จึงทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรทนายความจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งมีผลกระทบต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์ของสำนักงานศรีวิชัยทนายความและการบัญชี ที่ก่อตั้งมานานกว่า 30 ปี มีทนายความในสังกัดกว่า 20 คน โดยตัวผมเป็นผู้บริหาร และกระทบต่อจิตใจของคนในครอบครัวอย่างหนัก ดังนั้นจำเป็นต้องมีการดำเนินคดีทางทางแพ่งและอาญาต่อกลุ่มบุคคลที่นำเสนอข้อมูลอันเป็นเท็จลงในระบบคอมพ์ โดยในเบื้องต้นจะเรียกค่าเสียหายไม่ต่ำจาก 50 ล้านบาท ซึ่งเงินส่วนนี้จะแบ่งไปทำบุญต่อไป” ทนายสมบูรณ์ กล่าวในที่สุด