‘วิกฤติการสูญเสียแหล่งหญ้าทะเล’ ในทะเลอันดามันของประเทศไทยกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อ ‘พะยูน’ ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากที่ต้องพึ่งพาหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารหลัก การลดลงของหญ้าทะเลในพื้นที่ดังกล่าวทำให้พะยูนจำนวนมากต้องอพยพไปยังพื้นที่อื่นเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ และบางส่วนต้องเผชิญกับความตาย
การสูญเสียหญ้าทะเลไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อพะยูนเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลโดยรวมอีกด้วย เนื่องจากหญ้าทะเลเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด
พะยูนไทยมีอัตราการตายเพิ่มขึ้น
‘อีโค บิสเนส’ (Eco-Business) องค์กรสื่อและข่าวกรองด้านธุรกิจในเอเชียแปซิฟิก ได้เปิดเผยข้อมูลวิเคราะห์การเสียชีวิตของพะยูนย้อนหลัง 5 ปี ซึ่งจัดทำร่วมกับ ‘ปิยรัตน์ คำรักษา’ สัตวแพทย์ทางทะเลที่ศึกษาพะยูนในพื้นที่ชายฝั่ง พบว่า อัตราการตายของพะยูนในปี 2566-2567 เพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยในปี 2566 มีพะยูนเสียชีวิตกว่า 40 ตัว และในปี 2567 มียอดเพิ่มขึ้นเป็น 45 ตัว ซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยเป็นอย่างมาก เนื่องจากโดยปกติแล้วการเสียชีวิตของพะยูนในประเทศไทยจะอยู่ที่ประมาณ 13 ตัวต่อปี
นอกจากนี้พะยูนกว่าหลายชีวิตต้องอพยพไปยังจังหวัดภูเก็ต พังงา และระนอง ซึ่งเป็นการย้ายถิ่นฐานครั้งแรกที่พบในลักษณะนี้ มิหนำซ้ำ บริเวณเกาะมุกและเกาะลิบงในจังหวัดตรัง ซึ่งเคยเป็นแหล่งหญ้าทะเลขนาดใหญ่ กลับกลายเป็นพื้นที่ที่มีการเกยตื้นและเสียชีวิตของพะยูนมากที่สุด
การลดลงของหญ้าทะเล
‘มิลิกา สแตนโควิช’ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์หญ้าทะเลในอ่าวน้ำเมา จังหวัดกระบี่ กำลังเผชิญกับวิกฤตที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยก่อนหน้านี้ พื้นที่ดังกล่าวเคยมีหญ้าทะเลปกคลุมมากถึง 60% ทว่าปัจจุบันกลับเหลือเพียง 1% เท่านั้น ซึ่งสาเหตุหลักที่คาดการณ์ได้ในขณะนี้คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกที่ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลลดต่ำผิดปกติ จนเป็นเหตุให้หญ้าทะเลแห้งตาย
ด้าน ‘ปิ่นสักก์ สุรัสวดี’ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสริมว่า แม้ว่าการลดลงของหญ้าทะเลจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อประชากรพะยูน แต่การตายของพะยูนนั้นอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย อาทิ โรคระบาด ความกดดันจากสัตว์ทะเลชนิดอื่นที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร และการถูกทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยจากการพัฒนาชายฝั่ง
จำนวนพะยูนที่เหลืออยู่กำลังน้อยลงไปเรื่อยๆ
จากการสำรวจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีพะยูนเหลืออยู่ประมาณ 273 ตัว โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในทะเลอันดามัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้อาจไม่สะท้อนความเป็นจริงทั้งหมด เนื่องจากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีรายงานการพบพะยูนเสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งหากนำมาพิจารณา อาจหมายความว่าประเทศไทยสูญเสียพะยูนไปแล้วประมาณหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมด และจำนวนที่แท้จริงอาจสูงกว่านั้น เนื่องจากซากพะยูนบางส่วนอาจไม่ได้รับการพบเห็น
ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม ปี 2562 ถึงพฤศจิกายน ปี 2567 พบว่า มีพะยูนจำนวนมากถูกพัดออกจากทะเลอันดามัน โดยพะยูนเหล่านี้มีลักษณะผอมแห้งอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงปัญหาด้านสุขภาพและโภชนาการของพะยูนในพื้นที่ดังกล่าว
ทำให้ในเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ทช. ได้เสนอแผนฉุกเฉิน 4 ขั้นตอนเพื่ออนุรักษ์พะยูน ซึ่งประกอบไปด้วยการสำรวจจำนวนพะยูนที่เหลืออยู่ การติดตามเส้นทางการอพยพของพะยูน การฟื้นฟูหญ้าทะเล และการหาแนวทางอื่นๆ เช่น การจัดหาที่พักพิงและแหล่งอาหารชั่วคราวสำหรับพะยูน
โดยมาตรการระยะสั้นดังกล่าวที่ได้เริ่มดำเนินการแล้วคือ การให้อาหารเสริมจำพวกคะน้า ผักบุ้ง และกะหล่ำปลีแก่พะยูนในบริเวณจังหวัดภูเก็ต อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพะยูนโตเต็มวัยต้องการหญ้าทะเลถึง 30 กิโลกรัมต่อวัน การให้อาหารเสริมจึงเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวเท่านั้น การฟื้นฟูหญ้าทะเลจึงเป็นแนวทางระยะยาวที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง
‘ลัดดาวัลย์ แสงสว่าง’ ผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูหญ้าทะเล จาก ทช. กล่าวว่า การฟื้นฟูหญ้าทะเลในอดีตนั้นต้องเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น หญ้าทะเลบางชนิดหลุดลอยไปตามกระแสน้ำ หรือถูกสัตว์ทะเลกินก่อนที่จะเติบโตเต็มที่ อีกทั้งในบางพื้นที่ที่ทำการฟื้นฟูยังเป็นแหล่งหาปลาของชาวประมง ซึ่งเครื่องมือประมงอาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของหญ้าทะเล
ลัดดาวัลย์ ย้ำว่า หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ โดยที่ไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง พะยูนไทยอาจต้องเผชิญกับภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ได้ในเวลาไม่ช้า ดังนั้นการฟื้นฟูหญ้าทะเลจึงเป็นภารกิจสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงสาเหตุของการเสื่อมโทรม เพื่อให้การอนุรักษ์พะยูนและระบบนิเวศทางทะเลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน