เมื่อวันที่ 17 มี.ค. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการ และกำชับให้กระทรวงคมนาคม และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การกับกำดูแล ร่วมกันหารือเพื่อหามาตรการด้านความปลอดภัยสูงสุดในการดำเนินการก่อสร้างทุกโครงการ พร้อมกับเร่งจัดทำมาตรการการลงโทษที่รุนแรงต่อผู้รับเหมาที่กระทำความผิด หากพบผิดจริงต้องพิจารณาไม่ให้ประมูลงาน หรือยื่นรับงานอีกต่อไป และดำเนินคดีอาญาด้วย ซึ่งเบื้องต้นจากการหารือร่วมกับกรมบัญชีกลาง พบว่า ในระหว่างรอมาตรการสมุดผู้รับเหมามีผลบังคับใช้ สามารถดำเนินการลงโทษได้ก่อน โดยใช้มาตรการขึ้นบัญชีดำในลักษณะทิ้งงาน ตามมาตรา 109 พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หมวด 12 ซึ่งจะไม่สามารถเข้าร่วมประมูลงานโครงการต่างๆ ได้ 2 ปี โดยให้ใช้มาตรการนี้ย้อนหลังกับโครงการที่ก่อสร้าง และเกิดอุบัติเหตุในรัฐบาลชุดนี้ด้วย

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การใช้มาตรการลงโทษในลักษณะดังกล่าว ต้องรอผลจากการสอบสอนก่อนว่าสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากความผิดพลาดของผู้รับเหมา หรือผู้ควบคุมงาน ซึ่งขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการสอบสวนภายหลังจากรื้อย้ายซากปรักหักพังแล้วเสร็จ จะใช้เวลาสอบสวนประมาณ 20 วัน หากผลสอบสวนแล้วเสร็จ จะเสนอให้กรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการขึ้นบัญชีดำตามกฎหมาย แต่หากมาตรการสมุดพกผู้รับเหมามีผลบังคับใช้ จะมีเงื่อนไขที่ชัดเจนในการพิจารณาลงโทษผู้กระทำความผิดทันที

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงการคลัง เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับผู้มีสิทธิขอขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย และการควบคุมระยะเวลาการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว หากเห็นชอบกรมบัญชีกลางจะจัดทำร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่..) พ.ศ. … ว่าด้วยหลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการมาตรการสมุดพกผู้รับเหมา ซึ่งจะกำหนดมาตรการลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่มีคุณภาพ ทั้งการปรับลดระดับชั้นผู้ประกอบการ และการเพิกถอนรายชื่อออกจากทะเบียนผู้ประกอบการงานก่อสร้าง คาดว่าจะมีผลบังคับภายในเดือน เม.ย. 68   

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า มั่นใจว่ามาตรการสมุดพกผู้รับเหมาจะใช้ได้ผลแน่นอน เนื่องด้วยหากมีผู้รับเหมากระทำผิด และโดนหักคะแนน จะทำให้ไม่สามารถรับงานได้อีก ซึ่งมีผลต่อผลประกอบการบริษัทรายนั้น และส่งผลเชิงลบต่อการรับงานที่อื่นๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้ กทพ. และกรมทางหลวง (ทล.) ว่าจ้างบุคลากรจากวิศวกรรมสถาน​แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์​ (วสท.) และสภาวิศกร เข้ามาช่วยควบคุมงานให้เป็นไปตามหลักวิศวกรรม และรายงานผลการทำงานมาที่หัวหน้าหน่วยงาน และ รมว.คมนาคม โดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการแค่ขอความร่วมมือให้หน่วยงานเหล่านี้เข้ามาช่วยดู ไม่ได้ว่าจ้าง จึงอาจทำให้การทำงานไม่เต็มศักยภาพ โดยให้เริ่มดำเนินการกับการก่อสร้างโครงการทางพิเศษ (ด่วน) สายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้วที่กำลังก่อสร้างอยู่ทันที

นายสุริยะ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ให้ดำเนินการปรับแก้สัญญาจ้างโครงการก่อสร้างในอนาคต จากเดิมในสัญญาจะระบุเพียงบทลงโทษสำหรับการทำงานล่าช้า แต่ไม่มีการกำหนดบทลงโทษเรื่องความปลอดภัยต่อสาธารณะ ดังนั้นหลังจากนี้ในทุกสัญญาต้องกำหนดให้ชัดเจน และสัญญาไม่ควรเป็นสัญญาที่เป็นมาตรฐานเดียว ควรแบ่งเป็นสัญญาสำหรับพื้นที่ก่อสร้างในชุมชน และสัญญาในพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่ได้อยู่ในชุมชน ซึ่งบทลงโทษของสัญญาก่อสร้างในพื้นที่ชุมชนต้องให้หนักกว่า เพราะมีความเสี่ยงต่อสาธารณะ ขณะเดียวกันหลังจากนี้จะเสนอปรับเพิ่มระดับชั้นผู้รับเหมาให้สูงกว่าเดิม จากเดิมสูงสุดชั้นพิเศษ เป็นชั้นซูเปอร์ลีก ซึ่งจะเป็นบริษัทที่ไม่เคยมีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ จะให้มีสิทธิเข้ารับงานก่อสร้างพื้นที่ในชุมชน.