เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 มี.ค. 2568 ที่รัฐสภา นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือร้องเรียนจากนายจารุวัฒน์ จิณห์มรรคา รองประธานมูลนิธิอิมมานูเอล โดยพาผู้เสียหายเหยื่อการค้ามนุษย์ ประมาณ 10 คน จากแก๊งสแกมเมอร์ชาวจีนในประเทศกัมพูชา มาขอความอนุเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์

นายจารุวัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากผู้เสียหายหลายคนถูกดำเนินคดีอาญา ซึ่งเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์และถูกหลอกไปทำงานสุจริต เช่น งาน รปภ. แม่บ้าน แต่สุดท้ายกลับถูกกักขังและถูกยึดโทรศัพท์ รวมถึงมีการทำร้ายร่างกายสาหัส และยังมีคนไทยอีกหลายพันคนที่ติดอยู่ในตึกประเทศกัมพูชาอีกหลายจุด ไม่ใช่แค่ที่ปอยเปต จำนวน 114 คน โดยผู้ที่อายุน้อยที่สุดคือ 14 ปี อายุมากที่สุด 73 ปี วันนี้ตนจึงนำผู้เสียหายมา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและเรียกร้องความยุติธรรม เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เนื่องจากขณะนี้ผู้เสียหาย ถูกอายัดบัญชี และบางส่วนถูกหมายเรียกหมายจับ ซึ่งมีบางส่วนติดคุก แต่ผู้ค้ามนุษย์ตัวจริงกลับไม่เคยถูกจับ ยังคงสร้างปัญหาอยู่ จึงนำเรื่องมายื่นเพื่อให้แก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนที่สุด

ด้านนายกัณวีร์ กล่าวว่า จากการปราบปรามอย่างจริงจังของรัฐบาล จากการตัดไฟฟ้า ตัดน้ำมัน ตัดอินเทอร์เน็ตในประเทศเมียนมา ทำให้เกิดเหตุการณ์ลุกลามเป็นโดมิโนไปถึงประเทศกัมพูชา ซึ่งมีคนไทยถูกหลอกลวงไปเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในประเทศกัมพูชาอย่างน้อย 3,000 กว่าคน ที่ทางมูลนิธิอิมมานูเอล ประสานมาว่ามีคนไทยตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ส่วนนโยบาย 3 ตัด ในประเทศเมียนมา และขณะนี้ลามมาถึงประเทศกัมพูชา เราจะมีการติดตามอย่างไร และจะมีมาตรการอย่างไรเพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์จากประเทศกัมพูชา และต้องมีการคัดกรองก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะบอกว่าเขาคือผู้กระทำความผิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการที่จะประสานงานไปยังฝ่ายบริหาร

ด้านเหยื่อการค้ามนุษย์ (ไม่เปิดเผยชื่อนามสกุล) เล่าเหตุการณ์ทั้งน้ำตา ว่า เหยื่อส่วนใหญ่ที่โดนไปก็จะถูกหลอก เป็นคนที่อยากหางานทำและหารายได้เสริม เพื่อเสริมสร้างอนาคตของตัวเอง ก็จะนำเรื่องรายได้มาหลอกลวงว่าจะเพิ่มให้ แต่ความจริงมีการกักขังทรมานและทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ รวมถึงการบังคับให้เล่นยาเสพติด ซึ่งเป็นสิ่งทรมานมาก ตนไม่อยากให้คนไทยที่อยู่ โดนเหมือนที่ตัวเองโดน อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ 

ขณะที่นายพงศ์นริศร์ ภาสินีนนท์ ตัวแทนศูนย์ประสานช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน ยกตัวอย่างเหยื่อที่ได้ช่วยมาล่าสุด อายุ 21 ปี ซึ่งถูกซ้อมทรมานกักขังและทำร้ายร่างกาย ซึ่งตอนที่ไปรับมาช่วงแรก ไม่สามารถเดินได้ และถูกบังคับให้ทำยอด หากไม่สามารถทำได้ก็จะถูกทำร้ายร่างกาย เคยวางแผนหลบหนี แต่ถูกจับได้และถูกทำร้ายร่างกาย ซึ่งทุกวันนี้ได้รับการประสานขอความช่วยเหลือแต่ละวันไม่ต่ำกว่า 5-6 คน

นายกัณวีร์ กล่าวในช่วงท้าย ว่าทางตำรวจไทยมีการดำเนินการจริงจัง แต่ข้อกังวลในขณะนี้ กรณีบัญชีม้า กลุ่มอาชญากรรมข้ามชาติดำเนินการล้ำหน้า การปราบปรามจับกุม ซึ่งกฎหมายของไทยอาจจะปรับใช้ไม่ได้ในกัมพูชา และความร่วมมือ ควรเป็นระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล ขณะเดียวกัน ยังจำเป็นต้องใช้กรอบความร่วมมือระดับภูมิภาคทวิภาคี และพหุภาคี ซึ่งในการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ในฝั่งไทย-เมียนมา ที่มีเจ้าหน้าที่รัฐของจีนเข้ามามีบทบาทจำนวนมากในการปราบปราม และไทยไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกว่าผู้กระทำผิดเป็นใครบ้าง เนื่องจากถูกตัดตอนไปแล้ว แต่การปราบปรามในฝั่งกัมพูชานั้น ส่วนตัวมองว่ายังไม่ได้ผล จะต้องประสานงานกับรัฐบาลกัมพูชาอย่างเดียว ซึ่งขณะนี้ภาคประชาสังคมที่ทำงานอยู่ มีข้อมูลเบาะแสที่พร้อมมอบให้กับทางภาครัฐได้.