ทั้งนี้ปตท.มีแผนลงทุนใน ธุรกิจไฮโดรเจนและโครงการกักเก็บคาร์บอน (ซีซีเอส) โดยปตท. ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนธุรกิจไฮโดรเจนในต่างประเทศ โดยมอบหมาย บมจ.ปตท.สํารวจและผลิตปิโตรเลียม หรือปตท.สผ. เป็นแกนนำในการลงทุน ซึ่งปัจจุบันประเทศที่มีต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนต่ำ มีทั้งตะวันออกกลาง อินเดีย โดยปตท.ไม่สนใจทำธุรกิจไฮโดรเจนที่ใช้กับรถยนต์ แต่เน้นไฮโดรเจนที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ขณะเดียวกันในอนาคตภาครัฐ มีนโยบายนำไฮโดรเจนมาผสมในโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ประมาณ 5% ตาม แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (พีดีพี) ที่กำลังจะประกาศ เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ แม้ราคาไฮโดรเจนในปัจจุบันมีราคาสูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นประมาณ 4-5 เท่า แต่เชื่อว่า ภายใน 5 ปีข้างหน้าราคาไฮโดรเจนจะปรับตัวลดลง เมื่อผนวกกับนโยบายภาครัฐเตรียมออกกฎหมายจัดเก็บภาษีคาร์บอน กระตุ้นความต้องการใช้ไฮโดรเจนในประเทศเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้ราคาแข่งขันกับเชื้อเพลิงอื่น ๆ ได้

“ไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่มีบทบาทสำคัญต่อการลดการปล่อยคาร์บอน ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในระยะแรกจะเริ่มจากการนำเข้าไฮโดรเจนมาทำตลาดก่อน ส่วนโครงการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (ซีซีเอส) เป็นโครงการที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้กลุ่ม ปตท.และประเทศไทยสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (เน็ต ซีโร่) ได้ โดยมีปตท.สผ. เป็นหลักในการทำโครงการนำร่องในแหล่งอาทิตย์ ขณะเดียวกันปตท.จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโครงการดังกล่าวในอนาคต โดยระยะยาวเน้นลงทุนระบบการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (ซีซีเอส) และไฮโดรเจน เพื่อใช้ในภาคอุตสาหกรรม จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”
ด้าน “รัฐกร กัมปนาทแสนยากร” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บมจ.ปตท. ขยายความว่า การสร้างความสมดุลของนโยบายอีเอสจี จะต้องลด และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปัจจุบันปตท.กำหนดเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไว้เร็วกว่าที่ประเทศได้ตั้งไว้ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงการการดักจับ และการจัดเก็บคาร์บอน (ซีซีเอส) และการใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมในกลุ่มอุตสาหกรรมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) สัดส่วน 5% รวมถึงการปลูกป่า ทั้ง 2 โครงการยอมรับว่า ท้าทายมาก

สำหรับโครงการซีซีเอส จะดำเนินการตั้งแต่ซัพพลายเชน ตั้งแต่การค้นหาเทคโนโลยีที่จะกักเก็บคาร์บอน ซึ่งกลุ่มปตท.มีการปล่อยคาร์บอนประมาณ 50 ล้านตันต่อปี จึงต้องหาเทคโนโลยีในการเก็บคาร์บอน เบื้องต้นมองว่า จะสามารถกักเก็บประมาณ 10 ล้านตันต่อปี ส่วนเชิงพาณิชย์แบบเต็มสเกล จะต้องใช้เวลามาก คาดว่า อาจจะเกิดขึ้นหลังปี 2578 ระยะสั้นเรายังผลิตไม่ได้ เพราะราคาแพง สิ่งที่ทำ คือ การเอาไฮโดรเจนเข้ามาผสมกับก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจี) 5% ตามแผนพีดีพี มองว่า การส่งมาจากอินเดีย จะคุ้มกว่า โดยอาจส่งมาในรูปของแอมโมเนีย
“ปตท. จะทำ 2 เรื่องนี้ ในประเทศไทย เพื่อให้กลุ่มปตท. และประเทศไทยไปสู่เน็ต ซีโร่ โดยบริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำตลอดจนแวลู เชน ดังนั้นเพื่อเป้าหมายจะต้องให้ความสำคัญ บริหารต้นทุนให้ต่ำที่สุดโดยเฉพาะการเลือกเทคโนโลยี และการร่วมกันคิด และสุดท้ายแม้จะทำให้ดีที่สุดแค่ไหน หรือต้นทุนต่ำสุดแค่ไหนจะต้องมีการสนับสนุนจากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่าง ๆ ที่จะทำให้เราสามารถดำเนินการและศึกษาความเป็นไปได้”

สำหรับปัญหาของการทำซีซีเอส ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายในการสนับสนุนการวิจัยและศึกษาเพื่อสำรวจพื้นที่ใต้ทะเลจากรัฐบาล ดังนั้น จึงจะต้องออกกฎระเบียบให้ชัดเจนรวมถึงงบประมาณ เพื่อให้เอกชนได้เดินหน้าศึกษาและลงทุน และหลังจากนั้นเมื่อดูโมเดลเสร็จ จึงสามารถเลือกเทคโนโลยีที่เหมาะสม ได้หารือทั้งกระทรวงพลังงาน และกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมบ้างแล้ว ซึ่งปตท.ดำเนินการด้านความยั่งยืนมาต่อเนื่อง โดยศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจในกลุ่มปตท. เช่น โครงการพลังงานหมุนเวียน, น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (SAF), ซีซีเอส , ไฮโดรเจน รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอาร์
หนึ่งในสถานที่ ที่ ปตท.ได้ศึกษา เช่น ทาคาซาโก ไฮโดรเจน ปาร์ค เป็นสถานที่ใช้ทดสอบเทคโนโลยีในการผลิตและการใช้งานไฮโดรเจนแห่งแรกของโลก เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาที่เน้นในการผลิตและพัฒนาการใช้พลังงานไฮโดรเจนที่ยั่งยืนก่อตั้งโดย มิตซูบิชิ เฮฟวี่ อินดัสทรี ตั้งอยู่ที่จ.เฮียวโงะ ประเทศญี่ปุ่น เป็นศูนย์ทดลองเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไฮโดรเจนที่ครบวงจรแห่งแรกของโลก เพื่อสนับสนุนเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และเป็นส่วนหนึ่งความพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศญี่ปุ่น เทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจน กระบวนการผลิตไฮโดรเจนของ ทาคาซาโก ไฮโดรเจน ปาร์ค มีความหลากหลาย และเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพผลิตไฮโดรเจนที่ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เทคโนโลยีหลักที่ใช้ในศูนย์นี้ เช่น กระบวนการ Electrolysis เป็นกระบวนการที่ใช้กระแสไฟฟ้าเพื่อแยกน้ำ ออกเป็นไฮโดรเจน และออกซิเจน โดยการผลิตไฮโดรเจนด้วยกระบวนการ Electrolysis นี้ใช้จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ทำให้กระบวนการผลิตไฮโดรเจนมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำหรือไม่มีเลย, กระบวนการ Pyrolysis ที่เกิดจากการเผาไหม้มีเทน เป็นกระบวนการทางเคมีที่ใช้ในการทำให้วัสดุแตกตัวเป็นวิธีการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และยังสามารถนำคาร์บอนที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ การใช้ไฮโดรเจนเป็น วัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมี ใช้ในการผลิตสารเคมี เช่น แอมโมเนีย ที่มีการใช้ในปุ๋ยไนโตรเจน และเมทานอล ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารเคมีอื่น ๆ.