เรียกได้ว่าเป็นกระแสที่กลายเป็นไวรัลอย่างมากอยู่ในขณะนี้ หลังเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 68 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี” ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้พูดถึงเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “หมอหมู วีระศักดิ์” ซึ่งเปิดผลการศึกษาวิจัยใหม่ล่าสุด ว่า “นอนมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืน สัญญาณเตือนสมองเสื่อม”

โดย หมอหมู ระบุข้อความว่า “การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology เมื่อปี 2017 ได้ตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาการนอนหลับ กับความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อม (dementia) และการเสื่อมของสมอง การศึกษานี้ใช้ข้อมูลจากผู้เข้าร่วม 2,457 คน อายุเฉลี่ย 72 ปี โดยแบ่งระยะเวลาการนอนหลับเป็น 3 กลุ่ม คือ น้อยกว่า 6 ชั่วโมง, 6-9 ชั่วโมง ถือเป็นมาตรฐาน และมากกว่า 9 ชั่วโมง”

นอกจากนี้ ผลการศึกษาสำหรับผู้ที่นอนหลับมากกว่า 9 ชั่วโมงต่อคืนนั้น มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่นอนหลับ 6-9 ชั่วโมง ซึ่งจะสรุปประเด็นสำคัญ ได้ดังต่อไปนี้
1. การนอนนานและความเสี่ยงสมองเสื่อม คือ งานวิจัยพบว่าผู้ที่มีระยะเวลาการนอนนานกว่าปกติ มีความเสี่ยงสูงขึ้นในการเกิดภาวะสมองเสื่อม การนอนนานอาจไม่ใช่สาเหตุโดยตรง แต่เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับการเสื่อมของระบบประสาท

2. การเสื่อมของระบบประสาทในระยะเริ่มต้น คือ การนอนนานอาจเป็นผลมาจากความเสียหายของสมอง ที่เกิดขึ้นในระยะเริ่มต้นของกระบวนการเสื่อมของระบบประสาท การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลต่อการควบคุมการนอนหลับ ทำให้ระยะเวลาการนอนยาวนานขึ้น

3. ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ คือ ระยะเวลาการนอนนานอาจเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ ที่สามารถใช้ในการระบุบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมในอนาคต การระบุความเสี่ยงในระยะเริ่มต้น อาจช่วยให้มีการแทรกแซงและป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดที่นำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของหมอหมู และควรหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง

ขอบคุณข้อมูล : หมอหมู วีระศักดิ์