ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 “หมอเจด-เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์” รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา หรือที่หลายคนรู้จักดี ว่าเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊กหมอเจด ที่มักจะโพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ ก็ได้ออกมาแจกเมนูอาหารสูตรคนเป็นเกาต์ชี้หายปวดข้อแน่นอนซึ่งระบุว่า
หลังจากแจกทั้ง สูตรลดเบาหวาน ลดไขมัน คนก็คอมเมนต์มาเยอะนะว่าอยากให้แจก สูตรคนเป็นเกาต์บ้าง ใครที่เป็นเกาต์คงรู้กันดีว่า อาการปวดข้อมันทรมานแค่ไหน จะเดินก็ลำบาก ขยับนิดขยับหน่อยก็เจ็บ แถมถ้าปล่อยไว้ไม่ดูแลให้ดี อาการอักเสบก็จะเป็นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ หลายคนอาจเข้าใจว่าแค่เลี่ยงเครื่องในสัตว์หรืออาหารทะเลก็พอ แต่จริงๆ แล้ว วิธีที่ช่วยควบคุมเกาต์ได้ดีที่สุดคือการกินอาหารให้ถูกหลัก และลดอาหารที่มีพิวรีนสูง วันนี้ผมจะมาแชร์วิธีกินที่ช่วยลดกรดยูริก พร้อมแจก ตารางอาหาร 7 วัน ที่เป็นเมนูไทยแท้ แถมยังช่วยคุมอาการเกาต์ได้แบบยั่งยืน
เข้าใจเรื่องพิวรีนก่อน แล้วเลือกกินให้ถูกก่อนจะไปดูเมนูอาหาร เราต้องรู้ก่อนว่า พิวรีนคืออะไร และทำไมมันถึงทำให้เกิดเกาต์ พิวรีน (Purine) เป็นสารที่อยู่ในอาหาร พอเรากินเข้าไป ร่างกายจะเปลี่ยนมันเป็นกรดยูริก ถ้าร่างกายขับออกได้ไม่หมด กรดยูริกก็จะสะสมเป็นผลึกยูเรตอยู่ตามข้อ ทำให้เกิดอาการปวด บวม อักเสบ
อาหารที่กินได้ปลอดภัย (พิวรีนต่ำ)
– ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต
– ผักใบเขียว เช่น คะน้า ผักกาดหอม (เลี่ยงพวกหน่อไม้ กระถิน สะตอ)
– ผลไม้ เช่น แอปเปิล เชอร์รี่ กล้วย แตงโม (ช่วยลดการอักเสบได้ด้วย)
– ไข่ไก่ ไข่เป็ด
– เต้าหู้ นมถั่วเหลือง น้ำเต้าหู้ไม่ใส่น้ำตาล
– ไขมันดี เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด ถั่วเปลือกแข็ง
อาหารที่กินได้แต่ต้องจำกัดปริมาณ (พิวรีนปานกลาง)
– เนื้อไก่ เนื้อปลา (แต่ต้องระวังพวกปลาที่พิวรีนสูง)
– ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดง
– ผักบางชนิด เช่น บรอกโคลี เห็ด
อาหารที่ควรเลี่ยงเด็ดขาด เพราะพิวรีนสูงมาก
– เครื่องในสัตว์ ตับ ไต หัวใจ กึ๋น
– อาหารทะเลบางชนิด กุ้ง หอย ปู ปลาซาร์ดีน ปลาแอนโชวี่
– เนื้อแดง เนื้อวัว เนื้อหมูติดมัน เนื้อแกะ
– แอลกอฮอล์ เบียร์ เหล้า ไวน์ (ตัวกระตุ้นให้เกาต์กำเริบเลย)
– อาหารแปรรูป ไส้กรอก เบคอน แฮม ลูกชิ้น (โซเดียมสูง + มีสารเร่งกรดยูริก)
แจกตารางอาหาร 7 วัน กินตามนี้ช่วยลดเกาต์ได้จริง
วันจันทร์
เช้า : ไข่คนใส่น้ำมันมะกอก + อะโวคาโด + ถั่วอัลมอนด์ + น้ำเต้าหู้
กลางวัน : ปลานึ่งตะไคร้ + น้ำพริกมะเขือยาว + ผักลวก + ข้าวกล้อง 1/2 ทัพพี
เย็น : ต้มจืดฟักทองเต้าหู้หมูสับ + ผักสด
วันอังคาร
เช้า : ไข่ตุ๋นใส่เห็ด + ถั่วลิสงคั่ว + กล้วยน้ำว้า
กลางวัน : แกงเลียงกุ้งสด + ข้าวไรซ์เบอร์รี่ + ผักสด
เย็น : ลาบเห็ดรวม + ผักสด + น้ำมะพร้าว
วันพุธ
เช้า : ไข่ต้ม 2 ฟอง + มะเขือเทศราชินี + น้ำเต้าหู้ไม่ใส่น้ำตาล
กลางวัน : ไก่ย่างสมุนไพร + น้ำพริกหนุ่ม + ผักเคียง (แตงกวา กะหล่ำปลี) + ข้าวกล้อง 1/2 ทัพพี
เย็น : แกงจืดเต้าหู้ไข่ใส่ผักกาดขาว + ผักลวก + น้ำอัญชันมะนาว
วันพฤหัสบดี
เช้า : ไข่ตุ๋นหมูสับ+ อะโวคาโด + ถั่วอัลมอนด์
กลางวัน : แกงส้มดอกแคใส่ปลา + ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 1/2 ทัพพี + ผักสด
เย็น : ต้มยำเห็ดรวม + น้ำพริกอ่องเต้าหู้ + ผักสด
วันศุกร์
เช้า : ไข่ลวก 2 ฟอง + ถั่วอัลมอนด์ + กาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล
กลางวัน : ปลาย่าง + น้ำพริกปลาทู (ใช้ปลาทูไร้มัน) + ผักเคียง + ข้าวกล้อง 1/2 ทัพพี
เย็น : ต้มจืดวุ้นเส้นเต้าหู้หมูสับ + ผักสด
วันเสาร์
เช้า : กรีกโยเกิร์ต + ถั่วลิสงคั่ว + เมล็ดฟักทอง
กลางวัน : ผัดกะเพราอกไก่ (ไม่ใส่น้ำตาล) + ไข่ดาวน้ำ + ข้าวไรซ์เบอร์รี่
เย็น : ยำไข่ต้ม + ผักเคียง + น้ำอัญชันมะนาว
วันอาทิตย์
เช้า : ไข่คนใส่เนย + อะโวคาโด + เมล็ดเจีย + น้ำเต้าหู้
กลางวัน : ปลาเผา + น้ำพริกกะปิ + ผักต้ม + ข้าวกล้อง
เย็น : แกงป่าเห็ดรวม + เต้าหู้ทรงเครื่อง + ผักสด
เทคนิคที่ช่วยให้เกาต์ดีขึ้น
– ดื่มน้ำเยอะ ๆ ช่วยขับกรดยูริกออกจากร่างกาย ควรดื่มวันละ 2-3 ลิตร
– เลี่ยงน้ำตาลแฝง น้ำอัดลม น้ำผลไม้กล่อง ขนมหวาน เพราะน้ำตาลฟรุกโตสกระตุ้นให้ร่างกายผลิตกรดยูริกเพิ่มขึ้น
– งดแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ เพราะมันมีผลทำให้กรดยูริกพุ่งสูง
ปรับการกินให้ดี ควบคู่กับการขยับร่างกาย ช่วยให้เกาต์ดีขึ้นเร็วขึ้น แค่ปรับอาหารอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ ถ้าลองขยับร่างกายเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปด้วย จะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญดีขึ้น ขับกรดยูริกได้ง่ายขึ้น และช่วยลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ
– เลือกกิจกรรมที่ไม่หนักข้อ เดินเร็ว โยคะ ว่ายน้ำ หรือขี่จักรยานเบา ๆ สักวันละ 30 นาที ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและลดการสะสมของกรดยูริก
– โฟกัสที่การลดน้ำหนักแบบสุขภาพดี ลดแป้ง ลดของมัน ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรม ไม่ควรลดน้ำหนักแบบฮาร์ดคอร์ เพราะถ้าร่างกายเผาผลาญไขมันเร็วเกินไป กรดยูริกอาจพุ่งสูงขึ้นได้
– เลือกโปรตีนให้เหมาะสม หันมากิน ปลา ไข่ เต้าหู้ และถั่ว แทนเนื้อแดง ลดการอักเสบ และช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมตัวเองได้ดีขึ้นแต่แนะนำเพิ่มอีกนิดว่า ปลาบางชนิดมีพิวรีนสูง (เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาแอนโชวี่) ซึ่งต้องหลีกเลี่ยงและถั่วบางประเภทมีพิวรีนปานกลาง ควรรับประทานแต่พอประมาณ เพราะฉะนั้น อันนี้ต้องดูดีๆ ก่อนรับประทานครับ
อาหารที่ต้องเลี่ยง ถ้าไม่อยากให้เกาต์กำเริบ
– อาหารพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์, กุ้ง, ปู, หอย
– แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเบียร์ น้ำอัดลมและน้ำผลไม้เข้มข้น เพราะมีฟรุกโตสสูง
– อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก เบคอน ลูกชิ้น
สรุปคือกินแบบนี้เกาต์ดีขึ้นแน่ครับ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ความสม่ำเสมอ” อย่ากินดีแค่ 7 วันแล้วกลับไปกินแบบเดิม ต้องค่อย ๆ ปรับให้เป็นนิสัย ลองทำตามดู 1-2 เดือนแล้วสังเกตอาการ ผมมั่นใจว่าอาการเกาต์ของหลายคนจะดีขึ้นแน่นอน ใครมีคำถามคอมเมนต์ได้เลยนะ…
ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : @หมอเจด