เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) ในฐานะประธานกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า จากเหตุคานสะพานก่อสร้างทรุดตัวบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษดาวคะนองของโครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก สัญญาที่ 3 เมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม ได้มอบหมายให้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ความคืบหน้าการกู้คืนพื้นที่บริเวณดังกล่าวโดยด่วน ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการกู้คืนพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนสูงสุด

สำหรับการตรวจสอบในวันนี้ (16 มี.ค.68) พบว่า สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากตัวโครงสร้างไม่สามารถรับน้ำหนักได้ จึงทำให้คานสะพานเกิดการทรุดตัว ทั้งนี้ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ร่วมดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมถึงกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัย พร้อมทั้งให้รายงานความคืบหน้ามายังกระทรวงคมนาคมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามภายหลังการจัดการกู้คืนพื้นที่เสร็จสิ้นภายใน 7 วัน และหลังจากนั้นอีก 20 วัน คาดว่าจะทราบถึงผลสรุปการตรวจสอบข้อเท็จจริง และสาเหตุที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อย่างชัดเจนมากขึ้น

นายอภิรัฐ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีเหตุการณ์โครงสร้างเหล็ก Launching Gantry และชิ้นส่วนพื้นสะพาน (Segment) ทรุดตัวบนทางหลวงหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ช่องทางหลัก กม. ที่ 21+650 ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 29 พ.ย.67 ซึ่งอยู่ในโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษ (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 82 (M82) สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอนที่ 1 นั้น จากการรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กรมทางหลวง ผู้เชี่ยวชาญจากสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ สภ.เมืองสมุทรสาคร และพิสูจน์หลักฐานจังหวัดสมุทรสาคร พบว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบมาแล้ว 106 วัน

ได้แก่ ทำการรื้อย้ายชุดอุปกรณ์ LG ออกจากพื้นที่ 11 วัน ลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ 14 วัน ตรวจสอบเอกสารของโครงการฯ 90 วัน รวบรวมข้อมูลหาสาเหตุของการวิบัติ 53 วัน ประชุมพนักงานสอบสวน 26 วัน รับมอบวัตถุพยาน 12 วัน ทดสอบวัตถุพยาน 41 วัน และสอบพยานบุคคล 1 วัน ล่าสุด คณะกรรมการฯ ได้สรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า โครงสร้างของคานเหล็ก (Truss) สามารถรับแรงได้ โดยแบบการก่อสร้างมีความถูกต้อง และวัสดุสำหรับงานก่อสร้างโยธาเป็นไปตามมาตรฐาน

จึงสามารถสันนิษฐานสาเหตุได้ว่า เกิดจากการรูด (slip) ของเหล็กเส้นกำลังสูง (PT bar) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวยึดระหว่างคานขวางคอนกรีต และฐานรองของโครงเหล็กชุดชั่วคราว โดยองค์ประกอบของชุดขันตัวยึดอาจไม่แน่นเพียงพอ ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดจาก ”ผู้ปฏิบัติงาน“ สำหรับขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการฯ จะดำเนินการจัดทำรายงานสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงส่งไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับผิดชอบคดี เพื่อนำสู่ขั้นตอนการสอบสวน เพื่อหาบุคคลที่กระทำความผิด และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
นายอภิรัฐ กล่าวอีกว่า ในส่วนของสัญญาอื่นๆ ของโครงการมอเตอร์เวย์ M82 นั้น ทล. ได้สั่งการให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพทั้งหมดแล้ว พร้อมกับจัดทำรายการสิ่งที่ต้องตรวจสอบ เพื่อนำไปใช้สำหรับโครงการอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด และต้องไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกต่อไปอย่างเด็ดขาด อย่างไรก็ตามยืนยันว่าทุกโครงการบนถนนพระราม 2 จะเสร็จภายในสิ้นปี 2568 แน่นอน ตามนโยบายนายสุริยะ

ด้านนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ขณะนี้ได้เร่งดำเนินการจัดการกู้คืนพื้นที่ โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการ 22 ชั่วโมงต่อวัน คาดว่าจะเสร็จสิ้นเร็วกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่าจะเสร็จภายใน 7 วัน เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้ตามปกติ

ขณะที่นายวิทยา ยาม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานร่วมมือกันจัดการกู้คืนพื้นที่ เพื่อคืนผิวการจราจรให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมแนะให้ประชาชนเลี่ยงการใช้เส้นทางบริเวณจุดเกิดเหตุดังกล่าว อีกทั้งเน้นย้ำว่า ทุกโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และจะดำเนินการหลังจากนี้ ต้องมุ่งเน้นด้านความปลอดภัยเป็นอันดับแรก พร้อมกับจัดทำมาตรการคัดสรรผู้รับงานที่เข้มข้นกว่าเดิม และได้กำชับทุกหน่วยงานให้ติดตาม และตรวจสอบทุกโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ก่อให้เกิดความสูญเสียอีกเด็ดขาด.