หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในช่วงกลางเดือน พ.ค.68 นี้ หรืออีกประมาณ 2 เดือน ประเทศไทยจะมีการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอีกครั้ง!!

เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดทำ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz และได้เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปเรียบร้อยเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา

โดยการจัดประมูลครั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่คลื่นความถี่ที่ทาง บริษัท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที ถือครองอยู่ จำนวน 4 คลื่น ได้แก่ คลื่น 850 MHz, คลื่น 1500 MHz, คลื่น 2100 MHz  และ คลื่น 2300 MHz  ต้องสิ้นสุดการอนุญาตใช้งานในวันที่ 3 ส.ค. 68 นี้

ประกอบกับปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกว่า 100 ล้านราย โดยเครือข่าย 4G ครอบคลุมประมาณ 99.15% และ 5G ประมาณ 91% ทั่วประเทศ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 72 จะมีความต้องการใช้งานบรอดแบนด์เคลื่อนที่ภายในประเทศมากถึง 1,156 GB ต่อคนต่อปี และจะมีการประยุกต์ใช้ Smart 5G ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ  รวมถึงการพัฒนาระบบการสื่อสารความเร็วสูงให้มีความทันสมัย รองรับกับความต้องการของประชาชน

ภาพ pixabay.com

ทาง กสทช. จึงมุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่าย 5G เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนและทุกภาคส่วน จะได้รับความสะดวกสบายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อ และส่งข้อมูลได้ในทันที จึงจำเป็นของการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อให้ประชาชนและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีคลื่นความถี่ที่เพียงพอ สำหรับรองรับการใช้งาน และสามารถใช้งานต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

โดย คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ด กสทช.)  ได้เห็นชอบในกรอบระยะเวลา หรือโรดแม็พ ในการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ โดยเบื้องต้นกำหนดวันจัดประมูล คือ วันที่ 17-18 พ.ค.นี้

ซึ่งการประมูลมีทั้งหมด 6 ย่านความถี่ โดยคลื่นความถี่แบบเป็นคู่ (Paired band) เทคโนโลยี FDD คือ คลื่น 850 MHz รองรับ 3G คลื่น 1800 MHz รองรับ 3G 4G และ คลื่น 2100 MHz รองรับ 3G 4G

คลื่นความถี่แบบไม่เป็นคู่ (Unpaired band) เทคโนโลยี SDL และ TDD คือ คลื่น 1500 MHz รองรับ 3G คลื่น 2100 MHz รองรับ 3G 4G  คลื่น 2300 MHz รองรับ 3G 4G และสามารถพัฒนาไปสู่ 5G ได้  และคลื่นความถี่ย่านสูง (High band) เทคโนโลยี TDD คือ คลื่น 26 GHz รองรับ 5G

ภาพ pixabay.com

ขณะที่ได้กำหนดราคาประมูลตั้งต้นไว้ดังนี้ คลื่น 850 MHz จำนวน 2 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 6,609 ล้านบาท  คลื่น 1500 MHz จำนวน 11 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 MHz ราคาเริ่มต้น 904 ล้านบาท คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 6,219 ล้านบาท คลื่น 2100 MHz (FDD) จำนวน 12 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 3,391 ล้านบาท

คลื่น 2100 MHz (TDD)  จำนวน 3 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 5 MHz ราคาเริ่มต้น 497 ล้านบาท คลื่น 2300 MHz จำนวน 7 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,675 ล้านบาท และคลื่น 26 GHz จำนวน 1 ชุดความถี่ ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 450 เมกะเฮิรตซ์ รวมราคาเริ่มต้นมีมูลค่า 121,026 ล้านบาท

ในการเปิดรับฟังความคิดสาธารณะเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่าน มีผู้แสดงความคิดเห็นจากหลายฝ่าย ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยข้อคิดเห็นบางส่วนคือ  ควรมีการกำหนดขนาดของคลื่นความถี่ให้ชัดเจนขึ้น  ในส่วนของราคาขั้นต่ำ บางส่วนมองว่าราคาคลื่นบางย่านสูงเกินไป ขณะที่บางส่วนเห็นว่าราคาต่ำเกินไป

สำหรับเงื่อนไขการชำระเงิน มีข้อเสนอให้ปรับเปลี่ยนจากงวดเดิมที่เป็นการจ่าย  50%-25%-25%  มาเป็น 4 งวดเท่ากัน เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถบริหารจัดการเงินทุนได้ดีขึ้น และเรื่องกฎการประมูล มีข้อเสนอให้เปลี่ยนรูปแบบจากการประมูลทีละกลุ่ม เป็นการประมูลพร้อมกันทุกกลุ่ม เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถตัดสินใจได้ยืดหยุ่นมากขึ้น และเกิดการแข่งขันที่เหมาะสม โดยสำนักงาน กสทช. ได้นำข้อสรุปทั้งหมดเข้าสู่ที่ประชุมบอรด์ กสทช.เพื่อพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมบอร์ด กสทช. เมื่อวันที่ 12  มี.ค.ที่ผ่านมา ได้มีความเห็น มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ทบทวนและจัดทำแนวทางการประมูลใหม่  อาทิ ให้พิจารณาในเรื่องควรจัดกลุ่มคลื่นความถี่เพื่อประมูลรวมกัน 6 คลื่นเช่นเดิม  หรือเปิดประมูลแยกเป็นรายคลื่น เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง ไม่มีการฮั้วของเอกชน

พร้อมทั้งศึกษาระบบนิเวศคลื่นความถี่ว่า คลื่นความถี่ไหนควรอยู่ร่วมกันเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งาน และจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมประมูล แล้วนำกลับมาเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. อีกครั้งโดยเร็วที่สุด ซึ่งคาดว่าจะเป็นการประชุมบอร์ด วันที่ 18 มี.ค. นี้ ก่อนที่บอร์ดสรุปมาตรการที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคม โดยบอร์ด กสทช.ยังมั่นใจว่ากรอบระยะเวลาการประมูลยังคงเป็นตามเดิม คือ จัดประมูลในวันที่ 17-18 พ.ค.68 นี้

ภาพ pixabay.com

โดยยืนยันว่า การสั่งให้ทบทวนแนวทางการประมูลใหม่ ไม่ได้เกี่ยวกับการที่สถาผู้บริโภค นำโดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการ ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาผู้บริโภค และคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือถึงนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เพื่อให้ชะลอการประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่ 

ซึ่งทาง น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ระบุว่า ประมูลคลื่นรอบนี้จะมีความเสี่ยงต่อผู้บริโภคเนื่องจากเหลือผู้แข่งขันแค่ 2 ราย และปัญหาอาจจะใหญ่กว่าเรื่องผู้บริโภคอีก เพราะเป็นเรื่องของโครงสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศในยุคดิจิทัล ทุกอย่างเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัล เพราะฉะนั้นหากมีผู้ถือครองน้อยราย ย่อมมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือการแข่งขันที่จะไม่เกิดขึ้น  โดยเฉพาะที่มีข่าวลือว่าการประมูลรอบนี้จะมีการลดราคาคลื่นความถี่ลง 30% ในขณะที่ไม่มีการแข่งขันเลย  และได้มีเงื่อนไขใดที่กำหนดให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองที่ชัดเจนหรือไม่?

“การออกแบบคลื่นความถี่ควรกระจายให้มากกว่าสองราย อาจจะเป็น 3 ราย หรือ 4 ราย โดยเฉพาะ NT ที่มีแนวโน้มจะสู้ยาก และใบอนุญาตกำลังจะหมด หาก เอ็นที ไม่ได้รับการสนับสนุน อาจเกิดปัญหาตามมา จำเป็นต้องมีการรื้อกระบวนการและเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่าง ๆ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น  ต้องนำข้อกังวลจากสังคมมาตีแผ่ เพราะในอดีตการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับราคาคลื่นความถี่นั้นมีออกมาให้พิจารณา แต่ครั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด”

ภาพ pixabay.com

หากมีการประมูลแล้วไม่มีผู้ให้บริการรายใหม่ โอกาสที่ตลาดจะถูกครอบครองโดยรายใหญ่จะสูงมาก ควรมีการออกแบบเงื่อนไขให้การแข่งขันเป็นธรรม เช่น ให้โอกาสเฉพาะรายใหม่เข้าประมูล ให้โอกาสเฉพาะผู้ที่ไม่เคยถือครองคลื่นความถี่ เป็นไปได้หรือไม่  ให้เป็นการออกแบบการแข่งขันให้เป็นธรรม และเปิดโอกาสรายใหม่ๆ

คงต้องจับตาดูต่อไปว่า บอร์ด กสทช. และ สำนักงาน กสทช. จะมีทางออกอย่างไร เพื่อให้การประมูลคลื่นรอบนี้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายมากที่สุด!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์