ผลจากการส่งชาวอุยกูร์กลับจีน ทำให้ไทยโดนหลายประเทศประณาม เพราะ ไม่อาจเชื่อใจได้ว่า รับประกันความปลอดภัยของชาวอุยกูร์เหล่านั้น เมื่อวันที่ 15 มี.ค.นายมาร์โก รูบิโอ รมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า รัฐบาลวอชิงตันใช้มาตรการจำกัดและควบคุมด้านวีซ่า ต่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย ทั้งในอดีตและปัจจุบัน จากการมีความเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กับกระบวนการส่งตัวชาวอุยกูร์ 40 คน กลับไปยังจีน เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม รูบิโอไม่ได้เปิดเผยรายชื่อของเจ้าหน้าที่ชาวไทยซึ่งต้องเผชิญกับมาตรการดังกล่าวว่ามีทั้งสิ้นกี่คน แต่กล่าวว่า อาจขยายมาตรการนี้ไปถึงสมาชิกในครอบครัวของเจ้าหน้าที่คนนั้นด้วย และสหรัฐฯ จะเดินหน้าต่อสู้กับความพยายามของจีน ซึ่งกดดันนานาประเทศ ให้ส่งกลับชาวอุยกูร์และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ทั้งที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ได้รับการคุ้มครอง
การใช้อำนาจของรูบิโอ เป็นไปตามมาตรา 212(a)(3)(C) แห่งรัฐบัญญัติตรวจคนเข้าเมืองและสัญชาติของสหรัฐ ซึ่งให้อำนาจกับกระทรวงการต่างประเทศใช้มาตรการจำกัดด้านวีซ่ากับเจ้าหน้าที่รัฐบาลต่างประเทศ

ในเวบไซด์กระทรวงการต่างประเทศ ( mfa.go.th ) ได้เผยแพร่คำชี้แจงต่อการประกาศนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ว่า 1. รัฐบาลไทยรับทราบนโยบายของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ประกาศเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2568 ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ฝ่ายไทยได้รับคำยืนยันจากรัฐบาลจีนเกี่ยวกับการให้ความปลอดภัยชาวอุยกูร์ และจะติดตามความเป็นอยู่ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวต่อไป โดยไทยได้แถลงทำความเข้าใจกับประเทศที่มีความห่วงกังวลในเรื่องนี้ไปแล้วในหลายโอกาส ไทยได้ดำเนินการตามหลักมนุษยธรรมที่ได้ยึดมั่นมาโดยตลอด ซึ่งรวมถึงการดูแลผู้หนีภัยจากเหตุการณ์ในประเทศต่าง ๆ มายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ และไทยยังคงจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเหล่านี้ต่อไป
2. ไทยให้ความสำคัญกับความเป็นพันธมิตรทางสนธิสัญญากับสหรัฐฯ ที่มีความใกล้ชิดกันมายาวนาน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพซึ่งกันและกัน และมีผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญร่วมกัน ทั้งในระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค

นายนพดล ปัทมะ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า อาจมีผลกระทบตัวบุคคล ที่อาจจะเดินทางไม่ได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่เราไม่ทราบว่าหมายถึงใคร หรือระดับไหน รวมถึงผู้กำหนดนโยบายหรือไม่ เนื่องจากใช้คำกว้างๆ ไม่รู้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่ข้าราชการประจำหรือรวมถึงนักการเมือง หวังว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการค้าและหวังว่าจะไม่ขยายผลไปมากกว่านี้ ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกามีความสัมพันธ์อันดีเกือบ 200 ปีแล้ว คิดว่า ความสัมพันธ์ช่วงนี้ถือว่าอยู่บนความท้าทายที่ฝ่ายบริหารต้องไปคุยกับเขาให้ได้
“หัวหน้าเท้ง” ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ( ปชน.) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนี้ว่า สิ่งที่พวกเราเรียกร้องมาโดยตลอดคือ การดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาล ที่ควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ ยึดหลักสิทธิมนุษยชนสากล รัฐบาลต้องตรวจสอบอย่างรอบคอบ ก่อนตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใด ภายใต้ภูมิรัฐศาสตร์โลก ที่ 2 มหาอำนาจแข่งขันกันอยู่

“ไม่อยากเห็นภาพรวมของประเทศได้รับความเสียหาย ขณะเดียวกันถ้าไปถึงจุดนั้นจริง ๆ อยู่ที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลที่ต้องแก้ไข ส่วนที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนากยกฯ แนะนำให้เชิญทูตสหภาพยุโรป(EU)มาพูดคุยเรื่องนี้โดยตรง จากที่อียูเคยมีมติเรื่องเดียวกันมาก่อนหน้านี้ เพื่อทำความเข้าใจนั้น เห็นว่า อียูชัดเจนเรื่องหลักการสิทธิมนุษยชนสากล แม้เราจะเรียกมาเจรจาแต่รัฐสภายุโรปมีมติแล้วว่า ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของประเทศไทย อย่าเพิ่งจะใช้วิธีการเจรจาหลังบ้าน แต่สิ่งที่ไทยควรทำคือ การแสดงออกหน้าบ้านอย่างชัดเจนว่า เคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนสากล”
“ที่รัฐบาลไทยเตรียมพาคณะไปเยือนจีน เพื่อดูสภาพความเป็นอยู่ของคนอุยกูร์ สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ตกเป็นกระบวนการฟอกขาว ทำให้นานาชาติเชื่อมั่นว่าการไปจีนมีความอิสระอย่างแท้จริง ตัวแทนที่ไปไม่ได้มีจากฝั่งรัฐบาลไทยอย่างเดียว แต่สามารถเชิญตัวแทนจากนานาชาติไปด้วย และคนที่เข้าไปดูกระบวนการภายในจีนต้องมีอิสระ ไปดูส่วนไหนก็ได้ หรือพบใครก็ได้ โดยไม่ได้ถูกจบจำกัดโดยรัฐบาลจีน”

สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หัวหน้าเท้ง กล่าวถึงกรณีอดีตนายกฯ แม้ว รำคาญที่จะใส่ชื่อเขาลงในญัตติ ว่า นายทักษิณเอง ก็ให้สัมภาษณ์ข่าวหลายครั้งว่าตัวเองมีส่วนในการบริหารราชการแผ่นดิน พวกเราบรรจุชื่อนายทักษิณเข้าไปในญัตติ ไม่ได้เกิดจากใครเลย เกิดจากการกระทำของเขาเอง ที่ต้องถูกตรวจสอบโดยฝ่ายนิติบัญญัติเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “นายกฯอิ๊งค์”แพทองธาร ชินวัตร ปล่อยให้พ่อชี้นำชักใยตัวเองในการบริหารราชการแผ่นดิน
“ ที่อดีตนายกฯ บอกว่า ถ้าพรรคคนรุ่นใหม่ เราทำงานแบบนี้ อาจจะเสียไปอีกพรรค ผมก็ไม่แน่ใจว่าเสียไปอีกพรรคหมายถึงอะไร ถ้าหมายถึงเสี่ยงที่จะถูกยุบพรรคซึ่งไม่ควรพูด ในฐานะที่นายทักษิณเองเคยถูกยุบพรรค ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง น่าจะเข้าใจหัวอกของคนที่โดนยุบพรรคด้วยกัน แต่ถ้าท่านหมายถึงเสียคะแนนนิยม ผมคิดว่าคงตัดสินแทนประชาชนไม่ได้”
“พวกเราบอกว่าเรามีความพร้อมเดินหน้าเต็มที่ แต่ฝั่งรัฐบาลเองไม่ได้ส่งผู้มีอำนาจในการตัดสินใจตัวจริงในการเจรจาวิป นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล ก็ออกมาพูดชัดเจนว่าตัดสินใจแทนคนในพรรคไม่ได้ ไม่เข้าใจว่าการตัดสินใจแทนคนในพรรคได้นั้นหมายถึงใคร ขอให้ส่งผู้มีอำนาจตัวจริงมาคุย หรือให้นายวิสุทธิ์กลับไปคุยก่อน”
เมื่อถามว่านายวิสุทธิ์ออกมาระบุว่าสูตรเวลาอภิปรายอาจจะยืดหยุ่นให้เป็น 23+7 แล้ว คือฝั่งฝ่ายค้าน 23 ชั่วโมง รัฐบาล 7 ชั่วโมง รับได้หรือไม่ นายณัฐพงษ์ กล่าวว่า อยู่ในกรอบที่พูดคุยกันได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมให้ชัดเจนคือไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตาม ถ้ายืนพื้นอยู่ที่ประมาณ 30 ชั่วโมง การอภิปราย 2 วันเป็นไปไม่ได้แน่นอน ถ้ายังไม่ปลดล็อคเรื่องนี้ การอภิปรายไม่ไว้วางใจก็เดินหน้าต่อได้ยาก
“ขอรอเจรจาเรื่องเวลาก่อนจึงคุยเรื่องคำใช้แทนนายทักษิณ ตามที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาเคยให้ข่าวก็เปิดเผยคำอยู่ เช่น บุคคลในครอบครัว อยู่ในกรอบประมาณนั้น และในส่วนของพรรค ปชน. เชื่อมั่นว่าไม่มีข้อสอบรั่วแน่นอน อยากให้รัฐบาลเตรียมพร้อมตอบข้อซักถามของพวกเรา”

สำหรับความคคืบหน้าเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ประธานวิปรัฐบาล ให้สัมภาษณ์กรณีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาครั้งที่ 6ในวันที่ 17 มี.ค.นี้ที่จะเสนอญัตติด่วนเรื่องขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)ในประเด็นทำประชามติก่อนการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า หวังว่าจะผ่านที่ประชุมรัฐสภาและศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะส่งญัตติของตนเป็นหลัก และพรรคภูมิใจไทยเขาว่าเขาไม่ได้ข้อง
“ทำไมไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทำได้หรือไม่ได้ จะได้จบข้อกังขาของทุกฝ่าย ไม่ต้องมากล่าวหากันว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญให้ทำเราก็ทำ ถ้าไม่ให้ทำเราก็หยุดแค่นั้นเอง แสดงว่าเราได้ทำแล้วเจตนาเราคือเราได้ทำแล้ว นี่คือเจตนาหลัก”
เมื่อถามว่าหากสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญสามารถให้แก้รัฐธรรมนูญได้เลย และมีการทำประชามติ 2 ครั้ง คิดว่าจะสามารถเสร็จทันในปีนี้หรือไม่ นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า “ปีนี้ไม่น่าเสร็จ แต่เราพยายามทำให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)ได้ในสมัยนี้ ( รัฐบาลนี้ ) ก็บุญแล้ว”
รัฐบาลแพทองธาร ก็น่าจะได้เห็นแค่ตั้ง ส.ส.ร.จริง ๆ เพราะตามเงื่อนเวลามันร่างกันเป็นปี .