จากข่าวคราวอื้อฉาวของดาราหนุ่มโด่งดังข้ามประเทศ นอกจากถูกวิจารณ์ เม้าธ์มอยเรื่องราวความรักของเจ้าตัวแล้ว ยังทำให้เกิดกระแสสังคมกลับมาพูดกันอีกครั้งถึงโรคใคร่เด็ก หรือเปโดฟีเลีย (Pedophilia) ที่เรียกกันสั้นว่า “เปโด” ซึ่งเป็นอันตรายทำลายชีวิตของเด็กและเยาวชน

“สำนักงานกิจการยุติธรรม” มีเกร็ดความรู้มาแจ้งเตือนพ่อแม่ผู้ปกครองให้รู้เท่าทัน และดูแลปกป้องลูกหลานจากภัยร้ายที่ว่านี้ โดย โรคใคร่เด็ก (Pedophilia) เป็นอาการผิดปกติทางจิตของผู้ใหญ่หรือผู้ที่อยู่ในวัยรุ่นตอนปลาย อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีความต้องการหรือแสดงออกว่าชอบหรือรักเด็กแบบเกินขอบเขต รักแบบคลั่งไคล้ ต้องการให้เด็กเป็นของตัวเอง จนนำไปสู่การนำเด็กมาเป็นเหยื่อบำบัดความใคร่ทางเพศ

ลักษณะผู้ป่วยโรคใคร่เด็ก

ผู้ป่วยโรคใคร่เด็กไม่แสดงพฤติกรรมที่ชัดเจน และสังเกตอาการจากภายนอกได้ยาก แต่ผู้ป่วยโรคดังกล่าวมักมีลักษณะ 6 ข้อดังนี้

1. ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่มีอายุ 33-40 ขึ้นไป

2. ไม่ค่อยมีความสุขกับคู่ครองวัยเดียวกัน

3. ส่วนใหญ่เกิดจากคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิด อาทิ เพื่อนบ้าน ญาติ

4. พยายามเข้าใกล้เด็กด้วยวิธีการตีสนิท หลอกล่อ ให้รางวัล ให้ขนม ให้เงิน เพื่อให้เด็กเชื่อใจ หรือตีสนิท

5. เกิดความรู้สึกหรือมีจินตนาการทางเพศกับเด็กเท่านั้น

6. ชอบมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็กและทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ทั้งเด็กคนเดิมหรือเด็กคนใหม่

กลุ่มเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อ

มักเป็นเด็กก่อนวัยเริ่มเจริญพันธุ์ไปถึง 13 ปี

1. เด็กทารก

2. เด็กอนุบาล

3. เด็กประถม

รูปแบบการกระทำทางเพศกับเด็ก

1.แบบไม่มีการสัมผัสร่างกาย

-แอบดูเด็กอาบน้ำ

-พูดจาลวนลาม

-เปลือยกายหรือให้เด็กดูอวัยวะเพศ

-ดูภาพหรือคลิปวีดีโอลามกของเด็ก เพื่อกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

2.แบบสัมผัสร่างกาย แต่ไม่ได้ล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ

               -กอดจูบ ลูบคลำอวัยวะเพศเด็ก

               -ให้เด็กจับอวัยวะเพศเพื่อสำเร็จความใคร่

3.แบบล่วงละเมิดทางเพศ

               -บังคับหรือข่มขู่ให้เด็กเก็บความลับ

               -กระทำชำเราซ้ำ

               -ทำร้ายร่างกายหรือฆ่า

การบำบัดรักษา ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่การช่วยฝึกให้ผู้ป่วยสามารถระงับอารมณ์และความต้องการเพศกับเด็กเล็กได้ หรือมีแนวทางการตอบสนองต่อความต้องการทางเพศที่เหมาะสมยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดโทษและลงโทษโดยคำนึงถึงความผิดปกติทางจิต “โรคใคร่เด็ก” และอาจไม่เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยทางจิตเวช ผู้ทำความผิดจึงมีความผิดและรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา

แต่หากพบผู้ที่กระทำการพฤติกรรมดังกล่าว สามารถแจ้งเหตุได้ที่ 1.มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก 0-2412-1196 (ในเวลาราชการ)

2.ศูนย์ช่วยเหลือสังคม 1300 (ตลอด 24 ชั่วโมง).