ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยหลายฉบับที่ชี้ว่า การเคี้ยวหมากฝรั่งช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปยังสมอง ทำให้รู้สึกตื่นตัว มีสมาธิ และทำงานแบบที่ต้องใช้สมองได้ดีขึ้น 

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิจัยชาวเกาหลีใต้ค้นพบอีกว่า สิ่งที่นำมาเคี้ยวแล้วให้ประโยชน์ต่อสมองมากกว่าหมากฝรั่งก็คือ “ไม้” 

กรณีศึกษาใหม่พบว่า การเคี้ยวไม้กดลิ้นซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นเวลา 5 นาทีสามารถเพิ่มระดับกลูตาไธโอน (GSH) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหลักในสมองที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชัน (ภาวะเสียสมดุลในระบบจัดการสารอนุมูลอิสระ ส่งผลให้เซลล์ในระบบต่างๆ ของร่างกายถูกทำลาย) และปริมาณ GSH ที่สูงขึ้นมีความเกี่ยวข้องกับความจำที่ดีขึ้น

“เท่าที่เรารู้ นี่เป็นรายงานฉบับแรกที่ระบุว่า การเคี้ยวอาหารสามารถเปลี่ยนระดับสารต้านอนุมูลอิสระในสมองมนุษย์ได้ และการเพิ่มขึ้นของระดับสารต้านอนุมูลอิสระในสมองมีความเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองส่วนรับรู้และประมวลผล” ทีมผู้เขียนระบุไว้ในรายงานการศึกษาที่เพิ่งเผยแพร่ในวารสาร Frontiers in Systems Neuroscience

กรณีศึกษานี้ใช้นักศึกษาสุขภาพดีจำนวน 52 คนจากเมืองแทกู ประเทศเกาหลีใต้ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 

กลุ่มแรกมี 27 คน ได้รับหมากฝรั่งเคลือบพาราฟิน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมี 25 คน ได้รับไม้กดลิ้นที่ทำเลียนแบบไม้ไอศกรีมแท่ง

ผู้เข้าร่วมทดลองจะต้องเคี้ยวสิ่งที่ได้รับด้วยฟันด้านขวาเป็นเวลา 30 วินาที จากนั้นพัก 30 วินาที แล้วสลับไปเคี้ยวอีกข้าง ทำซ้ำเช่นนี้จนครบเวลาทั้งหมด 5 นาที

หลังจากนั้นทีมวิจัยใช้วิธีการสเปกโตรสโคปีด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อวัดการเปลี่ยนแปลงของ GSH ในส่วนหน้าของเปลือกสมองส่วน Cingulate cortex ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ การควบคุมอารมณ์ แรงจูงใจ และควบคุมการใช้สติปัญญา

ผู้เข้าร่วมทุกคนจะต้องทำแบบทดสอบเกี่ยวกับการใช้สมองส่วนที่รับรู้และประมวลผลทั้งก่อนและหลังกิจกรรม ปรากฏว่า ผู้ที่กัดและเคี้ยวไม้กดลิ้นจะมีค่า GSH เพิ่มขึ้นและทำแบบทดสอบได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการศึกษาจะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการเคี้ยววัสดุที่แข็งพอสมควรจะเกี่ยวข้องอย่างมากกับการเพิ่มความเข้มข้นของ GSH ในสมอง แต่ทีมศึกษาก็กล่าวว่ายังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้

พวกเขาคาดเดาว่าการเพิ่มขึ้นของ GSH เป็นการสะท้อนว่าเลือดไหลเวียนในสมองได้ดีขึ้นเท่านั้น 

อนึ่ง การไหลเวียนเลือดในสมองมีความจำเป็นสำหรับการส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังเนื้อเยื่อสมอง การหยุดชะงักของการไหลเวียนนี้อาจนำไปสู่โรคหลอดเลือดสมองหรือภาวะสมองเสื่อมได้

นอกจากนี้ยังเคยมีกรณีศึกษาหลายฉบับที่บ่งบอกว่า ความบกพร่องในการเคี้ยวอาหารเกี่ยวข้องกับความสามารถในการรับรู้และประมวลผลที่ถดถอยลง

“เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาหรือแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในการเพิ่มระดับ GSH ในสมอง ผลการศึกษาของเราจึงชี้ให้เห็นว่าการเคี้ยววัสดุที่แข็งปานกลางอาจเป็นแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิผลในการเพิ่มระดับ GSH ในสมอง” นักวิจัยชาวเกาหลีใต้ระบุ

ข้อจำกัดประการหนึ่งของกรณีศึกษาล่าสุดนี้ก็คือมีการทดสอบวัสดุเพียงสองชนิดเท่านั้น ได้แก่ หมากฝรั่งและไม้

ผู้เขียนผลการศึกษากล่าวว่าการวิจัยในอนาคตควรครอบคลุมถึงวัตถุอื่นๆ ระยะเวลาในการเคี้ยวที่แตกต่างกัน จำนวนผู้เข้าร่วมวิจัยที่มากขึ้น ขอบเขตกลุ่มประชากรที่กว้างขึ้น และมีการประเมินระดับ GSH ในบริเวณต่างๆ ของสมองร่วมด้วย

ที่มา : nypost.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES