เมื่อวันที่ 15 มี.ค. นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลกทม. โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ถึงอุบัติเหตุโครงสร้างที่อยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานทรุดตัว ก่อนเข้าด่านทางด่วนพระราม 2 ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ว่า ตนรู้สึกเสียใจจนถึงระดับคับแค้นใจ เพราะในฐานะวิศวกรโยธาคนหนึ่ง เป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ที่เห็นความวิบัติมานับครั้งไม่ถ้วน และเห็นคนเจ็บ คนตายมานับไม่ถ้วนเช่นกัน แต่เหตุสลดก็ยังเกิดขึ้นซ้ำซากในสังคมไทย ขณะที่ตนเตือนและแนะนำนับครั้งไม่ถ้วนแล้วเช่นกัน ทุกอย่างยังแย่เหมือนเดิม เพราะเราลืมง่าย ทั้งผู้รับผิดชอบ หรือเจ้าของโครงการไม่จริงใจ และไม่ถอดบทเรียนเพื่อหาสาเหตุและนำไปสู่การเอาผิดกับผู้กระทำผิด แต่กลับรอเรื่องเงียบแล้วก็ปล่อยผ่าน คนทำผิดก็รู้แกว ไม่ต้องใส่ใจและไม่สนใจ จริงหรือไม่
นายสุชัชวีร์ ระบุอีกว่า สาเหตุการถล่มของการก่อสร้าง ผู้ที่เรียนวิศวกรโยธาทุกคน ต้องถอดบทเรียน 4 ข้อ เพื่อหาสาเหตุ ดังนี้ 1.ปัญหาการออกแบบไม่ได้มาตรฐาน วิศวกรหรือผู้ออกแบบคำนวณผิด ทำให้การออกแบบต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อทำการก่อสร้างหรือเมื่อใช้งานจึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ทำให้โครงสร้างถล่ม กรณีนี้ตรวจสอบได้จากรายการคำนวณก็บอกได้ว่าผู้ออกแบบนั้นออกแบบผิดมาตรฐาน และต้องรับผิดชอบ 2.ปัญหาการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน ผู้รับเหมาและผู้ควบคุมงานไม่ทำตามแบบก่อสร้าง หรือไม่ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โครงสร้างจึงถล่ม เพราะลดมาตรฐานการก่อสร้าง กรณีนี้ตรวจสอบด้วยการเก็บตัวอย่างเหล็ก ปูน มาทดสอบ ก็รู้ทันทีว่าทำผิดผู้รับเหมาและผู้คุมงานต้องรับผิดชอบ
3.ปัญหาการใช้งานไม่ถูกต้อง เมื่อออกแบบและก่อสร้าง ถูกต้องตามมาตรฐาน แต่เจ้าของหรือผู้ใช้งาน ใช้งานผิดประเภท เช่น ออกแบบมาเป็นบ้านพักอาศัย แต่กลับแอบใช้เป็นโกดังเก็บของ น้ำหนักบรรทุกเกิน ก็พัง กรณีนี้ เจ้าของหรือผู้ใช้งานต้องรับผิดชอบ 4.ปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติ หากออกแบบ ก่อสร้าง และใช้งานถูกต้อง แต่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว หรือพายุรุนแรง เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กรณีนี้คงถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ขอย้ำว่าต้องเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น จึงจะอ้างข้อนี้ได้ เพราะมีหลายกรณีที่จะเบี่ยงเบนประเด็น อ้างว่าสุดวิสัย ทั้งที่ทำผิดข้อ 1-3 ที่เรามักเห็นๆกันอยู่ จริงหรือไม่
“ที่ผ่านมาผมและแนวร่วม ภาควิชาการและ ภาคประชาชนได้พยายามแก้ปัญหาด้วยการเสนอ กฎหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ฉบับประชาชน ที่ต้องรอพี่น้องประชาชนมาลงชื่อให้เกิน 10,000 ชื่อ โดยสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การมีเจ้าภาพ ในการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามการแก้ปัญหา ถอดบทเรียน นำไปสู่การหาผู้รับผิดชอบและเยียวยาผู้ประสบภัย ให้ได้รับความเป็นธรรม และยังจะทำหน้าที่ตรวจสอบสาเหตุอุบัติภัยแทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตั้งแต่เหตุการณ์โรงงานระเบิด รถบัสไฟไหม้ สะพานถล่ม กลับเงียบไป ไม่มีใครมาลงชื่อ ทำให้ความตั้งใจดีๆนี้ ไม่ไปถึงไหนสักที จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมลงชื่อเสนอ พ.ร.บ.ความปลอดภัยสาธารณะที่ thaipublicsafety.org เพื่อมีเจ้าภาพดูแล สังคมไทยปลอดภัย อย่ารอให้คนเจ็บ คนตาย มากกว่านี้อีกเลย”นายสุชัชวีร์ กล่าว
ด้านนายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กถึงเรื่องเดียวกัน ว่า หลังจากเกิดอุบัติเหตุการก่อสร้างมอเตอร์เวย์บนถนนพระราม 2 ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ที่มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บหลายราย ตนไม่คาดคิดว่าจะมีอุบัติเหตุจากการก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เกิดขึ้นอีก เพราะผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายมีบทเรียนมาหลายครั้งแล้ว ที่สำคัญ รมว.คมนาคมประกาศทุกครั้งที่เกิดอุบัติเหตุว่าจะใช้มาตรการ “สมุดพกผู้รับเหมา” โดยจะตัดคะแนนผู้รับเหมาที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้าง พิจารณาลดชั้นผู้รับเหมา รวมถึงการถอดรายชื่อออกจากทะเบียนผู้รับเหมาที่มีสิทธิ์เข้าประมูลโครงการของภาครัฐทันที แต่เช้ามืดวันนี้ (15 มี.ค. 2568) กลับมีอุบัติเหตุจากการก่อสร้างทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก โดยจะเชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์ที่กำลังก่อสร้างบนถนนพระราม 2 เกิดขึ้นอีก มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย
นายสามารถ ระบุอีกวา อุบัติเหตุครั้งนี้จะเกิดจากการออกแบบ การก่อสร้าง หรือการควบคุมงาน จึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องเร่งสอบสวนหาสาเหตุให้ได้ เพื่อจะได้ใช้เป็นบทเรียนในการพัฒนาโครงการต่อไป และจะต้องชี้แจงให้สาธารณชนรับทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สัญจรที่ต้องผ่านถนนพระราม 2 เพื่อจะได้หาทางป้องกันตัว แต่เชื่อหรือไม่ว่าการสอบสวนหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 ผ่านมาเกือบ 4 เดือน ยังไม่เสร็จ แล้วเราจะมีอะไรมาถอดบทเรียน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุอีก
“การป้องกันอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะใช้มาตรการใดก็ตาม ที่สำคัญที่สุด คือหากผู้รับผิดชอบไม่เข้มงวดกวดขัน ไม่เอาจริงเอาจัง อย่าหวังเลยว่าจะได้ผล ถึงเวลานี้รมว.คมนาคมควรพิจารณาหาข้อบกพร่องในการใช้มาตรการสมุดพกผู้รับเหมา แล้วเร่งแก้ไข แต่หากเห็นว่าใช้มาตรการนี้ไม่ได้ผล ก็ฉีกสมุดพกผู้รับเหมาทิ้งเถอะ ให้พี่น้องประชาชนหาทางป้องกันเอาเอง ซึ่งทางที่ดีที่สุด คือถ้าไม่จำเป็น ก็อย่าผ่านถนนพระราม 2 อีกเลย”นายสามารถ ระบุ