เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ “ดร.เอ้ สุชัชวีร์” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกสภาวิศวกร ออกมาโพสต์ในเฟซบุ๊ก “เอ้ สุชัชวีร์” หลังเกิดเหตุสลดใจ คานสะพานก่อสร้างพังถล่ม ก่อนเข้าด่านทางด่วนพระราม 2 ประมาณ 100 เมตร บริเวณใกล้เคียงซอยพระรามที่ 2 ซอย 25 ถนนพระราม 2 แขวงบางมด เขตจอมทอง ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ว่า อีกแล้ว สะพานถล่ม คนตาย เพราะ “ไม่มีเจ้าภาพ” และ “ไม่ถอดบทเรียน 4 ข้อ” สังคมไทยจะปลอดภัย กี่โมง?

ผมได้ข่าว “สะพานถล่ม” แถวพระราม 2 ผมรู้สึกเสียใจ จนถึงระดับคับแค้นใจ เพราะในฐานะวิศวกรโยธาคนหนึ่ง เป็นอดีตนายกสภาวิศวกร และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ที่เห็นความวิบัติมานับครั้งไม่ถ้วน และเห็นคนเจ็บ คนตาย มานับไม่ถ้วนเช่นกัน แต่เหตุสลดก็ยังเกิดขึ้น ซ้ำซาก ในสังคมไทย ผมเตือนแล้วและแนะนำนับครั้งไม่ถ้วน แล้วเช่นกัน ทุกอย่างยังคงแย่เหมือนเดิม เพราะเราลืมง่าย ทั้งผู้รับผิดชอบ หรือเจ้าของโครงการ ไม่จริงใจ ไม่ถอดบทเรียน เพื่อหาสาเหตุ นำไปสู่การเอาผิดกับผู้กระทำผิด รอเรื่องเงียบ แล้วก็ปล่อยผ่าน คนทำผิดเขาก็รู้แกว ไม่ต้องใส่ใจ ไม่สนใจ จริงไหม

ขอเรียนว่าสาเหตุการถล่ม ของการก่อสร้าง มีไม่กี่เรื่อง วิศวกรโยธาเรียนกันมาทุกคน เพียงต้องถอดบทเรียน 4 ข้อ เพื่อหาสาเหตุ ดังนี้
1.ปัญหาการออกแบบไม่ได้มาตรฐาน คือ วิศวกร หรือผู้ออกแบบคำนวณผิดทำให้การออกแบบต่ำกว่ามาตรฐาน เมื่อทำก่อสร้าง หรือเมื่อใช้งาน จึงไม่สามารถรับน้ำหนักได้ โครงสร้างจึงถล่ม กรณีนี้ ตรวจสอบได้จากรายการคำนวณก็บอกได้ว่า ผู้ออกแบบออกแบบผิดมาตรฐาน ต้องรับผิดชอบปัญหาการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน คือ “ผู้รับเหมา” และ “ผู้ควบคุมงาน” ไม่ทำตามแบบก่อสร้าง หรือไม่ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โครงสร้างจึงถล่ม เพราะลดมาตรฐานการก่อสร้าง กรณีนี้ ตรวจสอบด้วยการเก็บตัวอย่างเหล็ก ปูน มาทดสอบ ก็รู้ทันทีว่าทำผิด ผู้รับเหมา และผู้คุมงาน ต้องรับผิดชอบ
2.ปัญหาการก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน คือ “ผู้รับเหมา” และ “ผู้ควบคุมงาน” ไม่ทำตามแบบก่อสร้าง หรือไม่ทำตามขั้นตอนที่ถูกต้อง โครงสร้างจึงถล่ม เพราะลดมาตรฐานการก่อสร้าง กรณีนี้ ตรวจสอบด้วยการเก็บตัวอย่างเหล็ก ปูน มาทดสอบ ก็รู้ทันทีว่าทำผิด ผู้รับเหมา และผู้คุมงาน ต้องรับผิดชอบ

3.ปัญหาการใช้งานไม่ถูกต้อง เมื่อออกแบบ และก่อสร้างถูกต้องตามมาตรฐาน แต่เจ้าของหรือผู้ใช้งาน ใช้งานผิดประเภท เช่น ออกแบบมาเป็นบ้านพักอาศัย แต่กลับแอบใช้เป็นโกดังเก็บของ น้ำหนักบรรทุกเกินก็พัง กรณีนี้เจ้าของหรือผู้ใช้งานก็ต้องรับผิดชอบ
4.ปัญหาภัยพิบัติจากธรรมชาติ หากออกแบบ ก่อสร้าง และใช้งานถูกต้อง แต่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว หรือพายุรุนแรง เกินกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กรณีนี้ คงถือเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ผมย้ำว่า ต้องเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ถึงจะอ้างข้อนี้ได้ เพราะมีหลายกรณี ที่จะเบี่ยงเบนประเด็น อ้างว่าสุดวิสัย ทั้งๆ ที่ ทำผิดข้อ 1-3 ที่เรามักเห็นๆ กันอยู่ จริงไหมครับ
“ผมและแนวร่วมภาควิชาการ และภาคประชาชน จึงพยายามแก้ปัญหา ด้วยการเสนอ “กฎหมายเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ” ฉบับประชาชน ที่ต้องรอพี่น้องประชาชนมาลงชื่อให้เกิน 10,000 ชื่อ สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ การมี “เจ้าภาพ” ในการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามการแก้ปัญหา ถอดบทเรียน นำไปสู่การหา “ผู้รับผิดชอบ” และ “เยียวยา” ผู้ประสบภัย ให้ได้รับความเป็นธรรม และยังจะทำหน้าที่ตรวจสอบสาเหตุอุบัติภัย แทนหน่วยงานเจ้าของโครงการ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่พอเรื่องโรงงานระเบิด รถบัสไฟไหม้ สะพานถล่ม เงียบไป ก็ไม่มีใครมาลงชื่อ ความตั้งใจดี ๆ นี้ จึงไม่ไปถึงไหนสักที จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมลงชื่อ เสนอ พ.ร.บ.ความปลอดภัยสาธารณะ ที่ thaipublicsafety.org เพื่อมี “เจ้าภาพ” ดูแล “สังคมไทยปลอดภัย” อย่ารอให้คนเจ็บ คนตาย มากกว่านี้เลย” ดร.เอ้ สุชัชวีร์ กล่าวทิ้งท้าย