เมื่อวันที่ 15 มี.ค. น.ส.ภิญญาพัชญ์ ศันสนียชีวิน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ว่า แนวทางดำเนินงานของรัฐบาลในเรื่องนี้ ยังขาดความรอบคอบในหลายด้าน หากพูดให้เข้าข้างรัฐบาลมากที่สุด อาจเป็นไปได้ว่ารัฐบาลต้องการประเมินความคุ้มค่าของโครงการอย่างละเอียดขึ้น จึงเลือกแจกเงินเป็นกลุ่ม ๆ แต่การจำกัดสิทธิการใช้จ่ายโดยไม่ได้คำนึงถึงความจำเป็นที่แท้จริง อาจทำให้โครงการนี้ไม่บรรลุเป้าหมายอย่างที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดให้กลุ่มเยาวชนอายุ 16-20 ปี ได้รับเงินดิจิทัลก่อนนั้น แม้จะช่วยลดความเสี่ยงในแง่การบริหารจัดการระบบ แต่รัฐบาลควรติดตามอย่างจริงจัง ว่าเยาวชนใช้เงินไปกับอะไร

“มีบางคนให้เหตุผลว่า เงินที่ได้รับเป็นสิทธิของเขา จะนำไปใช้ซื้ออะไรก็ได้ แม้แต่เติมเกมหรือซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่สิทธินั้นควรมาพร้อมกับความรับผิดชอบ เยาวชนควรตระหนักถึงหน้าที่ของตนเอง และใช้เงินอย่างมีสติ” น.ส.ภิญญาพัชญ์ กล่าว

น.ส.ภิญญาพัชญ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ขอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับข้อจำกัดในการใช้เงินดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการห้ามนำไปจ่ายค่าเล่าเรียนหรือค่าสาธารณูปโภค ขณะที่สามารถใช้จ่ายกับสินค้าฟุ่มเฟือยได้ ตนมองว่าเป็นแนวทางที่ขาดหลักการที่ชัดเจน ตนอยากทราบจริงๆ ว่ารัฐบาลกำลังคิดอะไรอยู่ ทำไมจึงอนุญาตให้ใช้เงินในบางกรณี แต่กลับไม่อนุญาตให้ใช้ในเรื่องที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน การปลดล็อกให้สามารถใช้จ่ายค่าเทอมได้ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้ในทางที่ยั่งยืน

“ก่อนหน้านี้มีข้อมูลว่ารัฐบาลจะอนุญาตให้ใช้เงินดิจิทัลกับค่าเทอม ค่าน้ำ ค่าไฟได้ แต่เมื่อถึงเฟส 3 กลับมีการเปลี่ยนแปลง โดยระบุว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้จัดอยู่ในหมวดค่าบริการซึ่งไม่อยู่ในเงื่อนไขของโครงการ การที่รัฐบาลเปลี่ยนเงื่อนไขไปมาเช่นนี้ แสดงให้เห็นถึงการขาดวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่ และขาดความรอบคอบในเชิงนโยบาย”น.ส.ภิญญาพัชญ์ กล่าว

น.ส.ภิญญาพัชญ์ กล่าวว่า การแจกเงินดิจิทัลอาจช่วยให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจจริง แต่รัฐบาลต้องพิจารณาว่าการหมุนเวียนดังกล่าว จะส่งผลดีอย่างยั่งยืนหรือไม่ แต่คำถามคือมันจะหมุนจนกลายเป็นพายุหมุนหรือไม่ รัฐบาลจำเป็นต้องวางแผนระยะยาวให้ชัดเจน มิฉะนั้นโครงการนี้อาจเป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ที่ไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืนอย่างที่ควรจะเป็น.