วันที่ 15 มี.ค. นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้หลายโรงเรียนกำลังเข้าสู่ช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งทำให้เด็กมีเวลาว่างมากขึ้น ประกอบกับอากาศที่ร้อน ทำให้เด็กออกไปเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่มีผู้ดูแล อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุทางน้ำ เช่น การลื่นตกน้ำ การจมน้ำ หรือเสียชีวิตได้ ซึ่งจากข้อมูลกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2567 มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิตในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. ซึ่งตรงกับช่วงปิดเทอมถึง 173 คน หรือเฉลี่ยเกือบ 2 คนต่อวัน เฉพาะเดือน มี.ค. มีการจมน้ำมากที่สุด 70 คน รองลงมา คือเดือน เม.ย. 58 คน และเดือน พ.ค. 45 คน
สำหรับข้อมูลการเสียชีวิตจากกรณีเด็กจมน้ำ พบว่าเป็นกลุ่มอายุ 10-14 ปี เสียชีวิตมากที่สุดร้อยละ 39.3 รองลงมา คือ อายุ 5-9 ปี ร้อยละ 32.4 และอายุ 0-4 ปี ร้อยละ 28.3 โดย ‘เพศชาย’ จมน้ำสูงกว่า ‘เพศหญิง’ ถึง 2.8 เท่าตัว โดยจังหวัดที่มีการเสียชีวิตสูงที่สุด คือนครราชสีมา 13 คน ปัตตานี 9 คน ศรีสะเกษ และอุดรธานี จังหวัดละ 8 คน และจากข้อมูลระบบรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากการตกน้ำ จมน้ำของกองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค ช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 67 พบว่า แหล่งน้ำที่พบเด็กจมน้ำมากที่สุด ได้แก่ แหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น บ่อขุด สระน้ำ คลอง แม่น้ำ ร้อยละ 72.3 เขื่อนอ่างเก็บน้ำ ฝาย ร้อยละ 10.9 และสระว่ายน้ำ สวนน้ำ ร้อยละ 5.8 ทั้งนี้ สาเหตุเกิดจากการไปเล่นน้ำมากที่สุด ร้อยละ 72.3 รองลงมาคือ พลัดตกลื่น ร้อยละ 14.9
“รัฐบาลห่วงใยต่อปัญหาการจมน้ำเสียชีวิตของเด็กไทย ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันอุบัติเหตุจากการจมน้ำ เพื่อให้เด็กๆ ได้ใช้ช่วงเวลาปิดเทอมอย่างปลอดภัยที่สุด แนะนำผู้ปกครองควรดูแลเด็กเล็กอย่างใกล้ชิด สำหรับกลุ่มเด็กโต ควรสอนให้เด็กรู้กฎความปลอดภัยทางน้ำ เช่น ไม่เล่นใกล้แหล่งน้ำ ไม่เล่นน้ำคนเดียว ไม่เล่นน้ำกันเองโดยไม่มีผู้ใหญ่ไปด้วย ไม่แกล้งจมน้ำ รู้จักประเมินแหล่งน้ำเสี่ยงใส่เสื้อชูชีพทุกครั้ง และตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมทางน้ำหรือนั่งเรือ และหากพบเห็นคนตกน้ำ ไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ ควรใช้มาตรการ ‘ตะโกน โยน ยื่น’ ในส่วนของชุมชนควรมีการเฝ้าระวังแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน ไม่ปล่อยให้เด็กลงไปเล่นน้ำ และมีการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงให้เกิดความปลอดภัย สำหรับสถานที่ที่เปิดให้บริการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ควรดำเนินการติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำบริเวณแหล่งน้ำ มีเสื้อชูชีพให้บริการและให้ใส่ทุกครั้งที่ทำกิจกรรมทางน้ำ กำหนดบริเวณสำหรับเล่นน้ำแยกออกจากบริเวณสัญจรทางน้ำ มีเจ้าหน้าที่ lifeguard คอยดูแล และประชาสัมพันธ์ในการดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด” นายอนุกูล กล่าว