กรณี กมธ. ทรัพยากรฯ วุฒิสภา จี้เจ้าหน้าที่เช็กบิลกลุ่มทุนข้ามชาติฮุบป่าฉะเชิงเทรา โดยนายชีวะภาพ ชีวะธรรม ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยผู้แทนกรมป่าไม้, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ฉะเชิงเทรา , ตำรวจ ภ.จว.ฉะเชิงเทรา , ผู้แทนจากกรมการปกครอง , อบต.คลองตะเกราและบริษัทเอกชน ซึ่งอยู่ระหว่างการขยายผลว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้างและจะรวบรวมพยานหลักฐานให้ชัดเจนก่อนแจ้งข้อกล่าวหากับนายทุนที่สำคัญมีหลักฐานการโอนสิทธิ ในที่ คทช.ให้กับบริษัทเอกชนโดยตรง ไม่ได้ตั้งนอมินีมารับแทน ซึ่งทางอบต.ไม่มีอำนาจหน้าที่โอนสิทธิในป่าสงวนฯ ให้ใคร ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะ คทช. มีหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นพยานรับรู้รับทราบ เท่ากับเป็นการเอื้ออำนวยให้กลุ่มทุน ซึ่งไม่สามารถทำได้นั้น
‘เฉลิมชัย’ สั่ง ‘กรมป่าไม้’ ตั้งทีมสแกน ‘สวนทุเรียน’รุกป่าตะวันออก เน้นรายงานทุก 10 วัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 มี.ค.ทีมข่าวพิเศษเดลินิวส์ รับการเปิดเผยจาก นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน โดยได้ให้ความเห็นหลังจากที่อธิบดีกรมป่าไม้ และผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) สำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจง ว่าตนมีข้อสังเกตในบางประเด็น ในส่วนของการทำงาน ของกรมป่าไม้และของ สคทช. เช่น ท่านอธิบดีกรมป่าไม้บอกว่า ได้แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดไปดำเนินการ โดยมีหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าฯไปดำเนินการสำรวจคนในพื้นที่ ตนคิดว่าเป็นการโยนบาปให้ผู้ว่าฯเพราะจะไปโทษผู้ว่าฯก็ไม่ได้ เนื่องจากชุดที่เข้าไปจัดสรรที่ดิน คือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้ว่าฯคงไม่ได้ลงไปรังวัดแปลงเอง เพราะฉะนั้นการเร่งรัดหรือไม่เร่งรัด เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ซึ่งอธิบดีกรมป่าไม้สามารถเร่งรัดได้โดยตรงอยู่แล้ว หรือกรณีผู้ว่าฯเป็นผู้ขออนุญาตใช้พื้นที่ไหน พื้นที่นั้นก็ต้องเป็นพื้นที่ที่ผ่านการเห็นชอบของอนุกรรมการจัดหาที่ดินมาก่อน

ซึ่งอนุกรรมการจัดหาที่ดินก็มีเจ้าหน้าที่ที่ดูและรับผิดชอบที่ดินของหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเป็นอนุกรรมการด้วย หากเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ก็จะมีเจ้าหน้าที่จากกรมป่าไม้ เป็นคนไปสำรวจ แล้วมาเสนอให้ คณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบ เมื่อคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบ แล้วนั้นแหละ ผู้ว่าราชการจังหวัดถึงจะเป็นผู้ไปดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ คนที่ทำหนังสือไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลงนาม ก็น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้นั่นแหละ ไม่ใช่อยู่ๆ ผู้ว่าฯอยากจะไปทำเรื่องเสนอเอง ไปสำรวจเอง ไปทำอะไรเอง ผู้ว่าฯเป็นคนรับหน้าเสื่อเฉยๆ แต่พอเห็นข่าวว่าอธิบดีกรมป่าไม้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าฯ เร่งรัดดำเนินการและทำการตรวจสอบพื้นที่ ตนก็รู้สึกสงสาร ผู้ว่าฯ ที่ ต้องมาเป็นแพะรับบาปในเรื่องนี้ ในทางกลับกัน ถ้าสมมุติว่าอนุกรรมการจัดที่ดินเห็นชอบมาแล้วผู้ว่าฯ ไม่ยอมไปขออนุญาตจะเกิดอะไรขึ้น ผู้ว่าฯจะผิดไหม ตนเห็นว่าการที่ สคทช. มีนโยบายมาแบบนี้ เป็นนโยบายที่เป็นการโยนภาระให้กับผู้ว่าฯ ทั้งที่คนที่รับผิดชอบจริง ๆ ควรจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพราะการอนุญาตก็เป็นการอนุญาตตามมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ขออนุญาตแต่อย่างใด

นายบารมี กล่าวอีกว่า เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้แล้ว ตามนโยบาย คทช.ก็ต้องมีการจัดคนลงในแปลงที่ได้รับอนุญาต ซึ่งตนก็งงๆ อยู่เพราะ คทช.ใช้คำว่าอนุญาตแบบแปลงรวม ถ้าอนุญาตแบบแปลงรวมแล้วทำไมต้องจัดคนลงแปลงอีก และในทางปฎิบัติจริงๆ แปลงที่จัดก็คือแปลงที่ชาวบ้านได้ทำกินอยู่แล้ว เท่าที่ได้ฟังจากการชี้แจงของเจ้าหน้าที่ก็เห็นว่าเป็นแปลงที่ผ่านการสำรววจตามมติ ครม.30 มิถุนายน 2541 นั่นเอง ไม่ได้มีการตีผังแบ่งแปลงกันใหม่แต่อย่างใด ดังนั้นตนเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รู้หมดแล้วว่าแปลงที่ได้รับอนุญาต แปลงไหนมีใครเป็นผู้ได้รับอนุญาต ภูมิลำเนาอยู่ที่ไหนอย่างไร และนั่นหมายความว่า แม้จะเป็นการครอบครองเกินกว่าพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ก็รู้อยู่แล้วว่าใครเป็นผู้ครอบครอง จะมาบอกว่าไม่รู้ ไม่มีคนมาแสดงตัวไม่ได้ ถ้าไม่มีคนมาแสดงตัวก็ต้องจัดให้กับคนอื่นในชุมชนนั้นที่ยังไม่มีที่ดิน หรือจัดไปตามหลักเกณฑ์ของ คทช. ที่มีอยู่ เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อยู่แล้ว หรือถ้าบอกว่าคนที่เคยแจ้งการครอบครองอาจจะตายไปจึงทำให้มีแปลงว่าง ก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะถ้าเป็นแปลงว่างก็ไม่มีคนทำกิน แต่ถ้ามีคนทำกินจะบอกว่าเป็นว่างไม่ได้ และการมาบอกว่าจัดคนลงไม่ได้จึงเป็นเรื่องที่มีพิรุธ ยิ่ง สคทช. ออกมาบอกว่า เป็นเรื่องที่ สคทช. ไม่มีข้อมูล เพราะกรมป่าไม้เป็นคนจัด แต่ตนเห็นว่า สคทช. เป็นหน่วยงานที่ดูนโยบายที่ดินทั้งระบบ สามารถเรียกข้อมูลมาจากกรมป่าไม้ ได้ ไม่ควรจะมาอ้างว่าไม่มีข้อมูล

นอกจากนี้กรณีที่เลขา สคทช. บอกว่าได้ลงไปเยี่ยมชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตแล้ว พบว่าชาวบ้านยินดี เพราะว่าสิ่งที่ได้รับเหมือนกับถูกรางวัลที่ 1 ตนมองว่า ไม่ว่าจะได้ ที่ดินจาก คทช. หรือไม่ได้ ที่ดินจาก คทช. ชาวบ้านก็ทำกินในที่ตรงนั้นอยู่แล้ว การได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยแค่ 20 ไร่ในระยะเวลา 20 ปีจะเหมือนถูกรางวัลที่ 1 ได้อย่างไร ถ้าได้กรรมสิทธิ์ ได้โฉนดแล้วชาวบ้านดีใจเหมือนกับว่าถูกรางวัลที่ 1 ก็ว่าไปอย่าง และถึงแม้ว่าอาจจะมีชาวบ้านบางรายที่ไม่มีที่ดินจริงๆ แล้วได้รับการจัดที่ดิน จาก คทช. ก็ไม่ได้โชคดี เพราะในหลายพื้นที่แม้จะได้รับการอนุญาตแต่ก็เข้าไปทำกินไม่ได้เพราะเจ้าของที่ดินเดิมไม่ยอมให้เข้าไปทำกิน บางรายแม้ว่าจะเข้าพื้นที่ได้ แต่ก็ทำกินไม่ได้ เหตุเพราะความยากจน ไม่มีเงินไปลงทุน เพราะต้องไปรับจ้างเมื่อหาเงินมาใช้รายวันจึงไม่มีความสามรถที่จะทำกินได้ คณะอนุกรรมการที่จะเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาด้านอาชีพนั้น ก็ไม่เคยเข้าไปช่วยพัฒนา ทั้งยังทราบข้อมูลมาว่า เจ้าหน้าที่มีการไปขู่ชาวบ้านที่ได้รับสิทธิแล้วไม่เข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ ว่าถ้าไม่ทำประโยชน์ในพื้นที่ ภายในเวลาที่กำหนดก็จะเพิกถอนสิทธิ

“มองว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นนี้เกิดจากความไม่พร้อมของ สคทช. โดยเฉพาะการออกนโยบายแบบกำหนดจากบนลงล่าง ไม่ได้มีการสร้างความเข้าใจทั้งกับเจ้าหน้าที่ในระดับปฎิบัติการและชาวบ้านที่ได้รับอนุญาต ในหลายพื้นที่เจ้าหน้าที่ยังไปชี้แจงว่า ให้ทำกินไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน หรือให้เข้าโครงการแค่ 20ไร่ ส่วนที่เกินจาก 20 ไร่ก็ไม่ต้องเข้าโครงการแต่ก็ยังให้ทำกินต่อไป อะไรแบบนี้ ซึ่งเป็นการสร้างความเข้าใจผิด ตนอยากเสนอแนะ กับ สคทช. ให้ดำเนินการทบทวนนโยบายใหม่ ให้เป็นนโยบายที่จัดทำมาจากข้างล่างขึ้นบน และในขณะเดียวกันก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยการเปิดเผยข้อมูลการจัดสรรที่ดินให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ในหลายช่องทาง เพื่อให้ทราบว่าใครเป็นผู้ถือครองที่ดินตัวจริง เพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้กับคนที่เดือดร้อนจริงๆ และเพื่อป้องกันการถือครองที่ดินจำนวนมากโดยคนเพียงไม่กี่คน” นายบารมี กล่าวทิ้งท้าย